Sharenting คืออะไร เมื่อโพสต์รูปลูกอาจละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว

29 มี.ค. 2565 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 09:59 น.

ประเด็นร้อนเรื่อง ลูกชายของ ปุ้มปุ้ย พรรรณทิพา ทำให้ ทำให้สิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กกลับมาถูกตั้งคำถาม อีกครั้ง วันนี้พาไปดูว่า Sharenting คืออะไร เมื่อโพสต์รูปลูกอาจละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว

อีกประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ กรณีชาวเน็ตบางคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นถึง น้องไซอันบลู สกาย ดูวาล ลูกชายของ ปุ้มปุ้ย พรรรณทิพา และ กวินท์ ดูวาล ด้วยข้อความที่รุนแรง

ต่อมา ปุ้มปุ้ย ได้แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก ทนายนิด้า ศรันยา หวังสุขเจริญ  ทำให้ เรื่อง สิทธิความเป็นส่วนตัว ของเด็กกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง

วันนี้เลยมีข้อมูลเกี่ยวกับ Sharenting  ว่าคืออะไร เพื่อฝากให้คุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

sharenting คืออะไร 

  • sharenting (n.) เกิดจากการผสมคำว่า (share + parenting) ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์แชร์ภาพลูกน้อยจนเกินพอดี ซึ่งอาจนำไปสู่การเผยข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดกิจกรรมที่เด็กๆ ทำจนอาจส่งผลกระทบได้ในอนาคต
  • sharenting ถูกบัญญัติไว้ใน Collins Dictionary ในปี 2016 เป็นคำที่เกิดขึ้นมาพร้อมคำวิจารณ์และข้อถกเถียงถึงสิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยพ่อแม่ลงในพื้นที่สาธารณะอย่างอินเทอร์เน็ต
  • หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เป็นผู้ริเริ่มคำนี้ โดยเริ่มตีพิมพ์บทความโดยใช้คำว่า oversharenting หรือการแชร์ข้อมูลและรูปลูกมากเกินไป เพื่อตั้งคำถามเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก

 

งานวิจัยหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กคนหนึ่งจะมีรูปลงในออนไลน์ถึง 1,500 รูป ก่อนจะอายุ 5 ขวบเสียอีก โพสต์เกี่ยวกับเด็กๆ นั้นเรียกคะแนนความสนใจและการกดไลก์จากเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการตลาดชั้นยอด

 

ข้อมูลจาก ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก "เลี้ยงลูกตามใจหมอ" ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจโดยสรุปว่า อันตรายจากการโพสต์ทุกความเคลื่อนไหว การแชร์ทุกเรื่องอาจจะอันตราย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน แท็กสถานที่ตลอด และโพสต์แบบเรียลไทม์ “ลูกอยู่ไหน เวลาไหน รู้หมด ลูกเคยทำอะไรในอดีต รู้หมด “เรารู้ โลกรู้มิจฉาชีพก็รู้

 

ยิ่งแชร์ ยิ่งอาจมีโทษจะนำอันตรายมาสู่ลูกได้ โดยเฉพาะรูปเปลือยที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายเมื่อโตขึ้น ที่ยังคงอยู่เสมอในโลกออนไลน์ โดยเสนอว่า การโพสต์รูปลูกแต่พองาม เฉพาะคนในครอบครัวและคนสนิทจริงๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือหากใช้อินสตาแกรมก็รับผู้ติดตามในวงจำกัด เพื่อไม่ให้ข้อมูลของครอบครัวและลูกหลุดไปโดยไม่ตั้งใจ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและลูก

 

สิ่งที่ควรทำคือการเคารพสิทธิของลูก (และเคารพสิทธิของคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่จะเลือกโพสต์หรือไม่โพสต์เรื่องราวของครอบครัวเขา) อาจรอสักลูกอายุ 3 ขวบขึ้นไปที่เริ่มพูดคุยรู้เรื่องสามารถลองถามลูกได้ว่า พ่อแม่จะขอโพสต์อะไรได้ไหม ชอบหรือไม่ชอบ ลูกมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้

 

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง" ต้องการรณรงค์ให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก” แม้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่อาจเคยชินกับการมองเด็กเป็น "สมบัติ" ของพ่อแม่ หรืออำนาจของพ่อแม่ที่เหนือกว่าเด็ก และยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากเท่าที่ควร 

 

1. การตัดสินใจนี้อยู่บนฐานของการ “เคารพเด็ก” คือการตระหนักว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ ว่าเขาอยากมีรูปหน้าตา หรือแบ่งปันห้วงเวลาส่วนตัวกับมนุษย์คนอื่นนอกครอบครัวของเขาหรือไม่ และในกรณีที่เขายังบอกไม่ได้ การปกป้องและเคารพเขาที่ดีที่สุดคือ การไม่นำเอาชีวิตส่วนตัวเขามาแบ่งปันกับสาธารณะในขณะที่เขายังบอกความรู้สึก หรืออนุญาตไม่ได้

 

2. สิ่งสำคัญจากตรงนี้คือ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์และการสื่อสารสำคัญที่พ่อแม่จะให้เด็กเรียนรู้ว่า “เขาคือเจ้าของชีวิตตนเอง” “เขาคือผู้มีสิทธิขาดเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง” ที่คือการแสดงความเคารพต่อลูก และเป็นการแสดงความรักที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

 

3. การงดถ่ายรูปลูกลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งปันตลอดเวลาหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sharenting  คือการเคารพในหลักการ “สิทธิที่จะถูกลืม”ซึ่งเป็นการตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่โพสต์รูปลูก ไม่ว่าขณะใดก็ตามในโลกออนไลน์ รูปของลูก ใบหน้าของเขา อากัปกริยาที่ถูกถ่ายไป จะถูกบันทึกในโลกออนไลน์ตลอดการ มันจะถูกแบ่งปันไปอย่างมหาศาลจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถรู้วัตถุประสงค์ว่าใครจะเอารูปลูกเราไปทำอะไร แบบไหนได้เลย