"บรูซ วิลลิส" (Bruce Willis) พระเอกฮอลลีวูดชื่อดัง เจ้าของบทบาท "จอห์น แมกเคน" ในภาพยนตร์ดัง "Die Hard" หรือ "คนอึดตายยาก" ประกาศยุติอาชีพนักแสดง หลังได้รับการวินิจฉัยว่า กำลังป่วยทางสมอง ส่งผลต่อความสามารถในการพูดและเขียนของเขา
วันนี้ (31 มี.ค.65) "บรูซ วิลลิส" นักแสดงรุ่นใหญ่ของวงการฮอลลีวูด วัย 67 ปี และ "เอ็มมา เฮมมิง-วิลลิส" ภรรยา และ "เดมี มัวร์" อดีตภรรยา ออกแถลงการณ์ร่วมผ่านอินสตาแกรมในวันพุธที่ 30 มี.ค. 2565 เกี่ยวกับเรื่องที่ "บรูซ วิลลิส" กำลังป่วยเป็นโรค "อะเฟเซีย" (Aphasia) หรือภาวะเสียการสื่อความ และการตัดสินใจอำลาอาชีพนักแสดง โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า
“สำหรับแฟน ๆ ของ บรูซ เราในฐานะครอบครัวอยากจะแจ้งข่าวว่าขณะนี้ บรูซ กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และเพิ่งจะตรวจพบว่าเขามีภาวะอะเฟเซีย ซึ่งจะมีผลต่อกลไกทางการรับรู้
ด้วยผลของโรค บรูซ ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ว่าเขาจำเป็นต้องยุติบทบาทอาชีพนักแสดง ซึ่งมีความหมายต่อเขามากเหลือเกิน
โดยอะเฟเซีย เป็นภาวะสมองเสียหาย ที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสารทั้งการพูด เขียน และทำความเข้าใจในภาษาต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับการทำงานแสดงโดยตรง ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยมีภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือ ศีรษะได้รับความ กระทบกระเทือนอย่างรุนแรง"
“หลังจากนี้พวกเราคงต้องเจอเรื่องท้าทายอีกมากมาย และพวกเราต่างได้รับทราบถึงความรักความหวังดีและกำลังใจจากทุกคน เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งพร้อมกันเป็นครอบครัว และอยากจะให้แฟน ๆ ของเขาได้รับทราบเรื่องนี้ด้วย เรารู้ดีว่าทุกคนมีความหมายกับเขามาก อย่างที่ บรูซ มักจะพูดว่า 'มีความสุขไปด้วยกันเถิด' เสมอ”
ผลงานการแสดงของ "บรูซ วิลลิส"
บรูซ วิลลิส เริ่มต้นอาชีพนักแสดงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกระทั่ง 10 ปีให้หลัง จากการรับบทเป็น ‘ไซบิล เชเพิร์ด’ ในซีรีส์ ‘Moonlighting’ ของช่อง ABC TV และโด่งดังสุดขีดจากบทบาท ‘จอห์น แมกเคน’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Die Hard’ หรือ ‘คนอึดตายยาก’ ภาคแรกในปี ค.ศ. 1988
นับแต่นั้นมา ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่บรูส วิลลิส แสดงก็สามารถทำรายได้ทั่วโลกมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 5 ครั้ง โดยชนะ 1 ครั้งจากบทบาทในซีรีส์ Moonlighting และคว้ารางวัลเอมมี อวอร์ด 2 ครั้ง จากการได้รับเสนอชื่อ 3 ครั้ง
อนึ่งจากข้อมูลจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ภาวะสูญเสียการสื่อความ มักมีสาเหตุจากความเสียหายในสมองซีกซ้าย ทำให้นึกภาษาหรือคำพูดได้ลำบาก กระทบต่อการ อ่าน, ฟัง, พูด, พิมพ์ หรือเขียน ของผู้ป่วย โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปัญหาทางการพูด รวมถึงการประสมคำไม่ถูกต้อง