ดีอีเอส จับตามิจฉาชีพออนไลน์ใช้ข่าวปลอมลวงเหยื่อหวังดูดข้อมูล-โอนเงิน

02 เม.ย. 2565 | 03:07 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 10:10 น.

“นพวรรณ” โฆษกดีอีเอสฝ่ายการเมือง เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพออนไลน์ ใช้ข่าวปลอมอ้างชื่อหน่วยงานราชการ-แบงก์ใหญ่ ลวงประชาชนคลิกลิงก์ กรอกข้อมูลส่วนตัว เพราะเสี่ยงทั้งถูกดูดข้อมูล หรือหลอกให้โอนเงิน

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์ใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ โดยจากการมอนิเตอร์สถานการณ์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข่าวปลอมที่อ้างชื่อหน่วยงานที่น่าเชื่อถือทั้งของรัฐ และธนาคาร เพื่อหลอกให้ผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าไปคลิกลิงก์ หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจเปิดช่องทางให้ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือบางกรณีอาจสูญเสียเงิน

 

ทั้งนี้จากการจัดอันดับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจมากสุด 10 ลำดับแรก ในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าเป็นข่าวที่มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ หรือมิจฉาชีพออนไลน์อยู่ถึง 3 ข่าว โดยท็อปเท็นข่าวปลอมดังกล่าว ได้แก่ ได้แก่ อันดับ 1 ธ.กรุงไทย ส่ง SMS มอบสิทธิ์เงินกู้ผ่านไลน์ และโครงการสนับสนุนงินกู้ฉุกเฉินของธนาคารโดยลงทะเบียนผ่านลิงก์ อันดับ 2 คลิปเสียงหมอศิริราช แนะนำกินยาเขียวเพื่อรักษาโควิด 19 อันดับ 3 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เผยเลขลับเฉพาะ งวดวันที่ 1 เม.ย. 65 อันดับ 4 หยดน้ำกระเทียมลงในหู แก้หูอื้อ หูตึง ปวดหู อันดับ 5 การทำ Ice Bathing สามารถรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายให้ดีขึ้นได้ 

อันดับ 6 สมุนไพรพะยูง มีสรรพคุณเป็นยาแก้มะเร็ง อันดับ 7 อย่าเขย่าร่างกายคนที่นอนหลับแล้วปลุกไม่ตื่น เพราะจะทำให้หัวใจวายได้ อันดับ 8 เพจ national science technology & policy office ร่วมกับกรมอนามัย ให้ประชาชนกรอกข้อมูลส่วนตัว อันดับ 9 กรมขนส่งทางบก เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ ผ่านเพจ Rob kl และอันดับ 10 เปิดโทรศัพท์มือถือเวลา 00:30-03:30 น. รังสีคอสมิกเข้าใกล้โลกทำให้ร่างกายเกิดอันตราย

 

“เมื่อพบข่าวที่แชร์กันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีการอ้างชื่อหรือตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน/องค์กรใดๆ ที่เชิญชวนให้คลิกลิงก์ หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ใด อย่าเพิ่งเชื่อหรือแชร์ต่อ แต่ควรตรวจสอบโดยตรงกับเว็บไซต์ทางการของหน่วยงาน/องค์กรนั้นๆ หรือโทรติดต่อสอบถามโดยตรงไปยังหมายเลขติดต่อสอบถามอย่างเป็นทางการ” นางสาวนพวรรณกล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง กรณีข่าวมีผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า กรมขนส่งทางบก เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ ผ่านเพจ Rob kl ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อ และโอนเงินไปให้ ผู้ที่หลงเชื่ออาจได้รับใบอนุญาตขับรถปลอม และหากนำไปใช้จะมีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานใช้เอกสารราชการปลอม เนื่องจากกรมขนส่งทางบก ไม่มีนโยบายเปิดรับทำใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาทำแทนได้ โดยการขอใบอนุญาตขับรถทุกชนิด ทั้งการขอใหม่และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถต้องผ่านการอบรมและทดสอบด้วยตนเองทุกขั้นตอนที่สำนักงานขนส่ง ยกเว้น การขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (มอบอำนาจมาดำเนินการขอแทนได้) เป็นต้น

 

ด้านภาพรวมสรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่  25-31 มี.ค. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามา 11,679,753 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 256 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 117  เรื่อง โดยเป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 29 เรื่อง

 

“ขอความร่วมมือจากประชาชน เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87” นางสาวนพวรรณกล่าว