“สมเด็จพระวันรัต” ความหมายอันลึกซึ้งของพระเถระคู่ชาติ

02 เม.ย. 2565 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 18:04 น.

ประวัติ “สมเด็จพระวันรัต” และความหมายสำคัญสำหรับตำแหน่งสำคัญของพระเถระคู่ชาติ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไปติดตามความหมายอันลึกซึ้ง รวมทั้งย้อนหน้าที่ความสำคัญของ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

หลังจาก สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.22 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา ถือเป็นการสูญเสียพระเถระชั้นผู้ใหญ่คนสำคัญของไทย และสร้างความอาลัยกับพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

 

สำหรับความสำคัญของ สมเด็จพระวันรัต นั้น ปัจจุบันนับว่าเป็นราชทินนามสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดย สมเด็จพระวันรัต แปลว่า ผู้ยินดีในการอยู่ป่า ผู้รักการอยู่ป่า เดิมใช้คำว่า พนรัตน์ และ วันรัตน์ ซึ่งแปลว่า ป่าแก้ว 

 

โดย วันรัตน์ เป็นนามที่ได้มาจากลังกา สันนิษฐานตามคำแปลว่าคงเป็นสังฆนายกฝ่ายอรัญวาสี คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นสังฆนายกฝ่ายคามวาสี

 

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ปรากฏนามนี้ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ว่าพระพนรัตน์ป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีสิน พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในการก่อกบฏ 

 

ที่มีชื่อเสียงปรากฏเด่นชัดอีกรูปหนึ่งคือ สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้ว ซึ่งได้เข้าไปถวายพระพรสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขอพระราชทานอภัยโทษแก่แม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันคราวสงครามยุทธหัตถี

 

สำหรับ สมเด็จพระวันรัต ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถระผู้จะได้รับพระราชทานนามนี้จะต้องมีความสำคัญมากในด้านภูมิธรรม โดยเฉพาะความเป็นผู้ยินดีในการปฏิบัติกรรมฐาน ยินดีในการปลีกวิเวก

ประวัติสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

 

สมเด็จพระวันรัต ฉายา พฺรหฺมคุตฺโต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตประธานคณะสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

 

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์

 

วิทยฐานะ

  • พ.ศ. 2491 สำเร็จวิชาสามัญศึกษา (ป.4) จากโรงเรียนวัดคิริวิหาร ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  • พ.ศ. 2495 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
  • พ.ศ. 2515 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

 

ลำดับสมณศักดิ์

  • พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี 
  • พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุมนต์มุนี ตรีปิฎกบวรวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีปริยัติวิภูษิต ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกวี ศรีธรรมประยต วิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ธรรมสาธกวิจิตรปฎาณ ปริยัติวิธานกิจจการี ตรีปฎกบัณฑิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต ศรีวชิรญาณวงศวิวัฒ ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

หน้าที่

  • เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้คำแนะนำ ก่อนประกาศใช้ในแต่ละปี
  • เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • เป็นกรรมการชำระอรรถกถา ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนา ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล, งานพระราชพิธีฯ ในบางโอกาส
  • เป็นผู้ถวายการสอนพระธรรมวินัยแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวผนวช เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นกรรมการกองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นหัวหน้ากองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นประธานคณะกรรมการตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • สนองงานถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ที่ได้รับพระบัญชาในบางโอกาส

 

การละสังขารอย่างสงบ

 

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อาพาธด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.22 น. สมเด็จพระวันรัต ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

 

ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย