นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตหมอผ่าตัดหัวใจและปัจจุบันเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
หมอสันต์เสนอลุงตู่ให้เลิกควบคุมโควิด
เมื่อคืนก่อนผมไปงานเลี้ยง ได้พบปะกับทูตของประเทศต่างๆหลายท่าน ได้คุยกับทูตบางประเทศนานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทูตประเทศจากอัฟริกา ซึ่งผมพยายามเลียบเคียงถามถึงสถานะการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) ที่นั่น
ประเด็นคือผมอยากรู้คือที่สื่อตะวันตกตั้งแง่ว่ารัฐบาลของประเทศในอัฟริการวมทั้งเคนยาและอูกันดาปิดข่าวเรื่องการตายของผู้ป่วยโควิดทำให้สถิติดูดีกว่าความเป็นจริงนั้น ของจริงมันเป็นอย่างไร
ท่านทูตบอกว่าโรคโควิดที่นั่นมันสงบแล้วจริงๆ และการตายของผู้คนก็มีน้อยมากจนสัมผัสไม่ได้ ข้อมูลนี้สอดคล้องกับที่ผมเคยได้ฟังคำสัมภาษณ์ของ Dr. Thierno Balde’ แพทย์ของ WHO ที่ดูแลเรื่องโรคโควิดในอัฟริกาได้เล่าว่าตัวเขาเองโดยหน้าที่ต้องเดินทางไปทั่วทุกหัวระแหงของอัฟริกา
ทั้งบ้านเล็กเมืองน้อย เขาไม่เห็นสัญญาณใดๆว่าะจะมีการตายของผู้คนมาก หรือมีงานศพอะไรมากมายเป็นพิเศษเหมือนอย่างช่วงโรคเอดส์ระบาดใหม่ๆ ไม่มีเลย
ข้อมูลของกระทรวงสธ.อูกันดานับถึงวันนี้มีอยู่ว่าทั้งประเทศตรวจคัดกรองไปแล้ว 2,552,614 คน ติดเชื้อสะสม 163,878 คน ตายสะสม 3,595 คน (2.1%) เกือบทั้งหมดเป็นการตายช่วงเดลต้าระบาด ฉีดวัคซีนไปแล้ว 10,048,279 โด้ส (ประชากร 45.7 ล้าน) มาถึงตอนนี้เคสสงบจากเวฟใหญ่แล้ว มีติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยวันละ 9 คน ยังอยู่ในไอซียู. 2 คน ไม่มีคนตาย
ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยหนึ่งซึ่งสนับสนุนทางการเงินโดย WHO และรัฐบาลเยอรมันเพิ่งเปิดเผยไม่กี่วันมานี้ เป็นงานวิจัยเมตาอานาไลซีสที่รวบรวมการเจาะเลือดสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันโควิดของผู้ป่วยที่ทำวิจัยในประเทศต่างๆทั่วอัฟริกา
ซึ่งได้ผลว่าภูมิคุ้มกันที่ตรวจได้ในเลือดของชาวอัฟริกาที่สุ่มตรวจทั้งทวีป ได้เพิ่มจาก 3.0% ในกลางปี 2020 มาเป็น 65.1 % ในปลายปี 2021
นั่นหมายความว่าโรคได้กวาดไปทั่วทวีปจนจบลงไปแล้วโดยที่มีการล้มตายน้อยมาก ทั้งๆที่อัตราการได้วัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มของอัฟริกาต่ำเพียง 14% อะไรทำให้ได้ภูมิคุ้มกันมากโดยคนตายน้อยและลงทุนน้อย ทำไมอินเดียตายกันมากกว่าล้านคน หรือว่าเป็นเพราะช่วงเวลาที่โรคกวาดผ่านไปนั้นมันต่างกัน อินเดียเจอโรคตอนเดลต้ากำลังขึ้น แต่อัฟริกาเจอเอาตอนโอไมครอนมาแทนเดลตา
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ในการจะบริหารสถานะการณ์โควิดของเมืองไทยเรานี้ เราจะหลับหูหลับตาไม่เรียนรู้จากอัฟริกาไม่ได้เลย ยุทธศาสตร์เดิมๆของเราตอนนี้คือ
ผมเขียนบทความนี้เพื่อจะบอกแก่รัฐบาลลุงตู่ว่ายุทธศาสตร์ที่เรากำลังใช้อยู่ทั้งสี่อย่างนี้จะพาเราไปสู่ทางตัน และจะยิ่งมีปัญหาหากมีสายพันธ์อื่นที่รุนแรงกว่ามาแทนโอไมครอน เพราะ
ประเด็นที่ 1. หากเราเรียนรู้จากอัฟริกา เราไม่ควรพลาดโอกาสใช้โอไมครอนในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนทั่วไป เพราะงานวิจัยพบว่าวัคซีนที่เราลงทุนฉีดไปแล้ว ภูมิคุ้มกันมันจะคงอยู่ไม่กี่เดือนเท่านั้น แล้วมันก็จะค่อยๆแผ่วลง นาทีทองมีอยู่แค่ไม่กี่เดือนจากนี้ไปเท่านั้น
ดังนั้นเราควรจะยกเลิกการกักกันโรคเสีย เปลี่ยนมาจัดการโรคแบบเปิดให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำอยู่แล้วได้ติดเชื้อโอมิครอน (Omicron) เสียตอนที่วัคซีนที่เราเพิ่งลงทุนฉีดไปยังช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการตายได้อยู่นี้
ประเด็นที่ 2. ในแง่การควบคุมโรคระยะยาว การติดเชื้อธรรมชาติเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิผลสูงสุด เพราะผลวิจัยอัตราการต้องเข้าโรงพยาบาลของผู้มีสถานะวัคซีนและสถานะการติดเชื้อต่างกัน ซึ่งทำกับประชากรของแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์คพบว่าหากเอาความเสี่ยงต้องถูกรับไว้ในโรงพยาบาลของกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่เคยได้วัคซีนเป็นตัวตั้ง กลุ่มที่ได้วัคซีนแต่ไม่เคยติดเชื้อมีความเสี่ยงเข้ารพ.น้อยกว่า 19.8 เท่า
แต่กลุ่มที่เคยติดเชื้อและเคยได้วัคซีนด้วย มีความเสี่ยงเข้ารพ.น้อยกว่า 55.3 เท่า ขณะที่กลุ่มที่เคยติดเชื้อโดยไม่เคยได้วัคซีนเลยมีความเสี่ยงเข้ารพ.น้อยกว่า 57.5 เท่า แปลว่าการติดเชื้อต่างหากที่เป็นตัวบอกว่าจะป้องกันการต้องเข้าโรงพยาบาลได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะได้หรือไม่ได้วัคซีนร่วมด้วยเลย
ดังนั้นการหวังลดการเข้าใช้โรงพยาบาลจากการเปิดให้ติดเชื้อ จะได้ผลดีกว่าการหวังเอาจากการฉีดวัคซีนซึ่งต้องฉีดกระตุ้นซ้ำซากตามรอบที่ภูมิคุ้มกันแผ่วลง และต้องกระตุ้นกันไปอย่างไม่รู้จบ
ประเด็นที่ 3. อัตราเข้าโรงพยาบาลและอัตราตายจากการติดเชื้อโอมิครอนต่ำมาก นอกจากข้อมูลภาพรวมของอัฟริกาที่ผ่านการติดเชื้อธรรมชาติทั้งทวีปมาได้โดยไม่บอบช้ำแล้ว ข้อมูลของอังกฤษก็บ่งชี้ไปทางเดียวกัน ข้อมูล National Statistic ของอังกฤษบ่งชี้ว่าทุกวันนี้มีคนตายทั้งประเทศสัปดาห์ละ 826 คน (อัตราตาย 0.03% ถ้าคำนวณจากการติดเชื้อในช่วงเดียวกันสัปดาห์ละ 2,443,077 คน)
ในจำนวนที่ตายนี้ประมาณ 35-60% มีโรคเรื้อรังร่วมด้วยจึงยังไม่รู้ว่าตายจากอะไร อัตราตายเพิ่มสัปดาห์ละ 5 คน (0.6%) อายุเฉลี่ยของผู้ตาย 82.5 ปี และหากเปรียบเทียบอัตราตายจากทุกโรคต่อสัปดาห์ในช่วงที่โอไมครอนระบาดอยู่ พบว่าต่ำกว่าอัตราตายรวมต่อสัปดาห์เฉลี่ย 5 ปีก่อนยุคโควิดระบาดอยู่สัปดาห์ละ 12,473 คน หรือต่ำกว่ากัน 0.3% แปลว่าในภาพใหญ่ขณะที่โอมิครอนระบาดระเบ้อติดเชื้อวันละสามแสนกว่า แต่อัตราตายรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสมัยที่ยังไม่มีโควิด
ประเด็นที่ 4. การคิดจะฉีดวัคซีนให้เด็กเพื่อช่วยเพิ่มการควบคุมโรคในระดับชาตินั้นเป็นทิศทางที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าจะได้ประโยชน์คุ้มความเสี่ยง ประเทศที่มีข้อมูลเรื่องนี้ดีที่สุดคืออังกฤษ เพราะที่อังกฤษก็มีปัญหาเดียวกันเนื่องจากการติดเชื้อกำลังอยู่ในขาขึ้น คือข้อมูลนับถึงวันนี้จากฐานข้อมูล ZOE พบว่าตอนนี้ 1 ใน 15 คนติดเชื้อถึงระดับมีอาการไปแล้ว มีคนติดเชื้อใหม่วันละ 349,011 คน เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 7% มีค่า R value 1.1 แปลว่ายังอยู่ขาขึ้น แต่จวนเจียนจะถึงพีคเป็นขาลง
และข้อมูลในเด็กของ National Statistic ของอังกฤษพบว่าเด็กระดับมัธยม 96.6% มีภูมิคุ้มกันแล้ว โดยที่ 46.6% ได้วัคซีนครบแล้ว แปลว่าอย่างน้อย50% ของที่มีภูมิคุ้มกันไม่ได้เกิดจากวัคซีน ส่วนเด็กประถม(อายุ 5-11 ปี) พบว่า 62.4% มีภูมิคุ้มกันแล้ว ถ้าเจาะลึกดูเฉพาะกลุ่มเด็กประถมอายุ 8-11 ปีพบว่า 80.9% มีภูมิแล้ว
โดยที่เด็กประถมทั้งหมดนี้ไม่เคยได้วัคซีนเลย เด็กเหล่านี้ทั้งหมดได้ภูมิมาจากการติดเชื้อธรรมชาติโดยมักไม่มีอาการ แล้วจะไปฉีดวัคซีนเพิ่มอีกทำไมละครับ เพราะข้อมูลของแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์คก็บอกแล้วว่าวัคซีนไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมในแง่การต้องเข้าโรงพยาบาลนอกเหนือไปจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
โดยสรุปผมจึงขอเสนอลุงตู่ว่า มาถึงบัดนี้เวลาได้ผ่านไปนานแล้ว สถานการณ์หรือธรรมชาติของโรค (natural course of disease) ได้เปลี่ยนไปแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคโควิดเสียใหม่ด้วยการตัดสินใจเลิกกักกันหรือเลิกชลอโรคทันที
เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ติดเชื้อโอมิครอน เปิดพลั้วะเลย ยิ่งเร็วยิ่งดี หันมาใช้ยุทธศาสตร์รับมือแบบโรคประจำถิ่น รีบเปิดเสียก่อนที่ใบบุญที่เราสร้างไว้จากการฉีดวัคซีนจะแผ่วลงไป และก่อนที่สายพันธ์ที่รุนแรงกว่าแบบใหม่ๆจะมาแทนโอมิครอน