ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงกรณีสภาพอากาศปรวนปรวน มีฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นเดือนเม.ย.65 ที่ผ่านมา
ซึ่งสถานการณ์คล้ายคลึงกับเมื่อปี 54 จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานกาณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึง อาจซ้ำรอยมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 ในประเด็นดังกล่าว กอนช. ได้ติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องพบว่า
อากาศค่อนข้างแปรปรวนตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.65 มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ 107% เช่นเดียวกับปริมาณฝนในช่วงเดือนเม.ย.65 และมิ.ย.65 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนจะตกมากกว่าค่าปกติ
สำหรับเดือนพ.ค.65 และช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.65 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 คาดการณ์ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และน้อยกว่าปริมาณฝนที่ตกในปี 54 อีกด้วย
ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วงต้นเดือนเม.ย.65 มีปริมาณ 58,525 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62 % ของปริมาณการกักเก็บ สามารถรองรับน้ำหลากได้อีกถึง 28,000 ล้าน ลบ.ม.
โดยเฉพาะในลุ่มน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการเตรียมการขุดลอกเพื่อรองรับน้ำหลาก
และแหล่งน้ำที่มีการพัฒนาเพิ่มเติมในช่วงปี 63-64 ที่ได้รับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.6 หมื่นแห่ง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเก็บกักน้ำฝนชะลอน้ำหลากได้อีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หากพิจารณาจากปริมาณฝนที่จะตก และขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว สถานการณ์น้ำในปีนี้จะไม่ซ้ำรอยหรือเกิดวิกฤตเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศที่แปรปรวน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นำบทเรียนจากฤดูฝนปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมได้เห็นชอบ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565
และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 10 มาตรการเดิมที่ดำเนินการในปี 2564 และได้เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการจากที่ได้มีการทบทวนบทเรียนเพื่อปิดช่องโหว่ในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพรวมถึงลดผลกระทบกับประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ
โดยให้มีการสำรวจซ่อมแซมคั้นกั้นน้ำ พนังป้องกันน้ำท่วมให้มีความพร้อมใช้งานทั้งช่วงก่อนและระหว่างน้ำหลาก เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์คั้นหรือผนังวิบัติสร้างความเสียหายแก่ชุมชน การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วม และการตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย
“สทนช.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.ร่วมกันทบทวนบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับปรุงแนวการบริหารจัดการรับมือปีนี้ทั้งมาตรการเดิมทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปป้องกันผลกระทบล่วงหน้าและเกิดประโยชน์กับประชาชน อาทิ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง ปรับปรุงเกณณ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เตรียมเครื่องจักรเครื่องและมีการกำหนดเกณฑ์ค่าชดเชยค่าเสียหายในการผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม"
ขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั้งนี้ สทนช.จะบูรณาการและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องตาม 13 มาตรการดังกล่าว ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปี 65 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน