นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อน ไอศกรีมเป็นของหวานที่หลายๆคน กินเพื่อคลายร้อน ซึ่งควรจำกัดปริมาณในการกิน หากกินมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ผู้บริโภค เสี่ยงไขมันสะสม น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะไอศกรีมส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลและไขมันนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต นมผง นมเปรี้ยว และยังมีสารให้ความหวาน เช่น กลูโคสไซรัป ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันพืช ไข่ กะทิ
นอกจากนี้ ไอศกรีมยังนิยมกินกับวาฟเฟิลโคน วิปปิ้งครีม และของตกแต่งหน้าเพิ่มด้วย หลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง และระวังน้ำตาลที่อยู่ในไอศกรีมด้วย เนื่องจากไอศกรีมบางประเภทแม้มีไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ กลับมีน้ำตาลสูงถึง 3.5 - 6.5 ช้อนชา
ดังนั้นจึงควรบริโภคแต่พอควร สำหรับผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูง ควรเลือกกินไอศกรีมที่มีไขมันน้อย หรือไม่มีไขมันเลย เช่น ไอศกรีมเชอร์เบต ส่วนผู้ที่มีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง สามารถกินไอศกรีมเป็นครั้งคราว จำกัดคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลในอาหาร เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก ส่งผลทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
ด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า การเลือกกินไอศกรีม ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง (50 – 70 กรัม) ให้พลังงาน 150 - 230 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 12 – 15 กรัม มีน้ำตาล 4 - 5 ช้อนชา ไอศกรีม 1 สกู๊ป (100 กรัม) ให้พลังงาน 250 - 350 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 7 – 11 กรัม น้ำตาล 6 - 9 ช้อนชา โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินไขมันและน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา
ไอศกรีมจึงควรกินเป็นครั้งคราวและจำกัดปริมาณไอศกรีม การเลือกกินไอศกรีมเลือกชนิดไขมันน้ำตาลน้อย และไม่เพิ่มโคน กินควบคู่กับผลไม้ เพื่อทำให้น่ากินมากขึ้น และควรกินแบบพอดี ไม่เยอะจนเกินไป เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก
ก่อนซื้อควรดูฉลากโภชนาการ เป็นส่วนประกอบก่อนการบริโภค เพื่อทำให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กินมากเกินไป โดยสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier choice) และเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารจากไอศกรีมที่ไม่สะอาด