จากกรณีที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่องพายุฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2565 ส่งผลให้ฝนฟ้าคะนองมีลมกรรโชกแรง และ อาจมีลูกเห็บ เกิดในบางแห่ง
ล่าสุด นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ในช่วงฤดูร้อนมักจะเกิดพายุฤดูร้อนและพายุฝนฟ้าคะนองมีลมกรรโชกแรงเป็นเหตุให้อาคารบ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหาย รวมทั้งป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ
ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอันตรายและความเสียหายจากเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงมีหนังสือขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาตรวจสอบและแก้ไขการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชน หรือต่อยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สำนักงานเขตพื้นที่ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้สมัคร ส.ก. เพื่อตรวจสอบและแก้ไขการติดแผ่นป้ายหาเสียงเช่นกัน
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมฉบับที่ 6 โดย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา ออก ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 6 ลงวันที่ 16 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เรื่อง "พายุฤดูร้อน บริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายน 2565)" รายละเอียดมีดังนี้
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน ลาวตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ (16 เม.ย. 65) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565
โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากภัยดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางสัญจรผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อ ผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย.