ลองโควิดรักษายังไง แนวทางการฟื้นฟูต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านเลย

19 เม.ย. 2565 | 21:14 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2565 | 23:04 น.

ลองโควิดรักษายังไง แนวทางการฟื้นฟูต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจมัดรวบข้อมูลแต่ละวิธีไว้ให้แล้ว

ลองโควิดรักษายังไงกำลังเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจ เป็นอย่างมาก  เนื่องจากปัญหาอาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19  (Covid-19) หรือภาวะ Long Covid กำลังก่อตัวขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วเพิ่มมากขึ้น

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ดำเนินการสืบค้นข้อมูล เพื่อรวบรวมคำตอบพบว่า 

 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม ระบุว่า

 

อาการที่เกิดจากผลแทรกซ้อนของโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ในระยะ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง แบ่งออกเป็น

 

  • กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและไม่พบความผิดปกติ เช่น หอบเหนื่อย เพลีย รู้สึกเหมือนร่างกายยังไม่ฟื้น การรักษา จะรักษาตามอาการ รอจนร่างกายปรับและฟื้นตัว

 

  • กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและพบความผิดปกติ เช่น พบผังผืดที่ปอด หรือพบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อ เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ ซึ่งพบได้น้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • กลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบอาการผิดปกติที่ปอด การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

ด้านแนวทางการฟื้นฟูภาวะ "ลองโควิด" นั้น  ข้อมูลจากโรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า เมื่อทราบว่ามีอาการลองโควิดและปรึกษาแพทย์แล้ว ในช่วงที่พักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ต้องเน้นดูแลร่างกายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการอักเสบ เพราะโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ได้แก่

 

กินอาหารที่ช่วยฟื้นฟูทุก ๆ มื้อ : อาหารโปรตีนมีส่วนช่วยในการซ่อม สร้าง และเสริม เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เราจึงควรกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่วชนิดต่าง ๆ โดยกินในสัดส่วนที่เหมาะสมกับร่างกาย 

 

ลองโควิดรักษายังไง

 

อย่างไรก็ดี อาจกินอาหารประเภทแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิ ขนมปังโฮลวีท เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลที่เร็วเกินไป (น้ำตาลมีส่วนเพิ่มโอกาสการอักเสบ) แล้วอย่าลืมกินผักและผลไม้ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบ

 

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม : หลายคนอาจนึกถึง การออกกำลังกาย เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีสมรรถภาพเช่นเดิมได้อีกครั้ง 
 

ซึ่งแม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่บางอย่างอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิด (และถึงขั้นทำให้อาการแย่ลงได้) ดังนั้นในผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิดจึงควรเลือกการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

 

ดังนั้น ควรเริ่มจากท่าออกกำลังกายเบา ๆ เน้นเคลื่อนไหวช้า ๆ ให้มากที่สุด อย่าพึ่งรีบไปทำท่ายาก 

 

อย่าพึ่งเร่งตัวเองให้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงแรกนั้น ปอดหรืออวัยวะต่าง ๆ ของเราอาจยังมีส่วนที่เสียหายอยู่ ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

 

แม้เป็นแค่ท่าออกกำลังกายที่เมื่อก่อนเคยทำได้ตามปกติ แต่เพราะสมรรถภาพของปอดหรืออวัยวะยังไม่เหมือนเดิม ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เช่นกัน

 

สรุปแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วย ซ่อม สร้าง เสริม รวมถึงการออกกำลังกายให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายที่พึ่งหายดีจากโควิด จึงต้องกระทำอย่างเหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ ควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลจะดีที่สุด