เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2565 ให้กับผู้แทนหน่วยบริการทั่วประเทศและประชาชนที่สนใจ ผ่าน Facebook Live สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อการดำเนินการในบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นไปในแนวทางเดียวกันและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
นพ.จักรกริช กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สปสช.และกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้บริการมากว่า 10 ปีแล้ว และในปี 2565 เรายังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อดูแลประชาชน กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 4.2 ล้านโดส (ไม่รวมหญิงตั้งครรภ์ที่รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปีจำนวน 2 แสนโดส)
เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เริ่ม 1 พ.ค.นี้
พร้อมเร่งรณรงค์เพื่อให้บริการฉีดในช่วง 3 เดือนแรก คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -31 กรกฎาคม 2565 จะเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยง 608 โดยกรมควบคุมโรคยืนยันแล้วว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องก้นโรคโควิด-19 สามารถฉีดพร้อมกันได้โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ต้องขอความร่วมมือหน่วยบริการในการร่วมให้บริการ เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
ด้าน นพ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ลดลง ผลจากการรณรงค์มาตรการป้องกันทำให้ลดการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตามขอย้ำว่ากลุ่มเสี่ยงยังคงต้องรับการฉีดวัคซีนป้องโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะด้วยขณะนี้ได้มีการเริ่มมาตรการผ่อนคลายแล้วและอาจส่งผลให้โรคไข้หวัดใหญ่กลับมาแพร่ระบาดได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยเร็ว
"โดยปีนี้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลครอบคลุมป้องกัน 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้ฉีดที่แขนคนละข้าง” นพ.ชนินันท์ กล่าว
บริการ Walk-in ยกเว้นกทม.ผ่านแอปเป๋าตัง
ด้าน นพ.สาธิต ทิมขำ อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ในปี 2565 นี้ ต่างจากปีที่ผ่านมา โดย สปสช. ได้ยกเลิกการกำหนดให้หน่วยบริการเปิดระบบการจองฉีดวัคซีน (Slot) แต่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความพร้อมของหน่วยบริการ ซึ่งหน่วยบริการที่ไม่มีระบบจองวัคซีนจะให้บริการในรูปแบบ Walk-in ใครไปก่อนมีสิทธิได้รับบริการก่อน (First come – Frist serve)
ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ยังคงระบบเปิดให้จองฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอป “เป๋าตัง” เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และในปีนี้ ยังมีการส่งข้อความเตือนรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฯ ให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงผ่านแอป “เป๋าตัง” พร้อมตรวจสอบหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ผ่านแอปนี้ได้ โดยอาจโทรสอบถามกับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการได้
นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายรับบริการในปีนี้ ทางกรมควบคุมโรคได้ จากปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่อยู่สถานที่ที่มีการร่วมตัวของประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการระบาด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์ ในปีนี้ สปสช. ได้ยกเลิกบริการวัคซีนทั้ง 3 กลุ่มนี้ โดยกำหนดบริการเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามข้อมูลปี 2565 จำนวนประชากรที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 11,555,334 คน ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ สปสช. จัดสรรเพื่อให้บริการมีจำนวน 4.2 ล้านโดส หรืออยู่ที่ร้อยละ 36.35 ของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นขอให้หน่วยบริการเลือกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังร่วม ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เป็นต้น เข้ารับบริการฉีดวัคซีนก่อน
“การรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เริ่มกระจายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฯ ให้กับหน่วยบริการแล้ว หากหน่วยบริการไหนมีความพร้อมก็สามารถให้บริการได้เลย” นพ.สาธิต กล่าว
ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงกลุ่มไหนบ้าง
กลุ่มเป้าหมายประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่