นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า การจัดนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ เป็นโครงการที่สภากาชาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นปฐมศิลปินของสภากาชาดไทย พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ นำมาจัดแสดงและรับบริจาคบน Coral Platform ของ KX ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล Non Fungible Token หรือ NFT
อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ในครั้งนี้ยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะ ให้เป็นที่ประจักษ์ในรูปแบบศิลปะดิจิทัลอีกด้วย ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ทรงมีพระเมตตา มีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และภัยจากโรคอุบัติใหม่ ที่คุกคามสุขอนามัยของประชาชน โดยเงินรายได้จากการร่วมบริจาคผ่าน Coral Platform ทรงพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์สมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ครอบคลุม ทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
นางพาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการสภากาชาดไทย และประธานกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เล่าถึงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์ให้กับสภากาชาดไทย จำนวน 32 ภาพ เป็นภาพสีน้ำมัน สีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ และภาพพิมพ์หิน ซึ่งแต่ละภาพมีการบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ท่านบันทึกไว้ในหนังสือ อาทิ ภาพต้นหางนกยูง และภาพแจกันสีม่วง เป็นภาพเก่าที่สุด ทรงวาดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้นดูแบบจากต้นซึ่งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา
ส่วนภาพแจกันสีม่วง ทรงได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จ พระบรมชนกนาถ ทรงทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาดได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง
ทรงเล่าพระราชทานว่า ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงสอนเรื่องสีเรื่องแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้
นอกจากนั้น ยังมีภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน อาทิ ภาพชาวนา ภาพกรรมกรเหมืองแร่ รวมถึงภาพที่ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีหรือในหนังสือต่าง ๆ ภาพวัดพระแก้ว ที่บันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์เมื่อพ.ศ. 2527 ทรงบันทึกไว้ว่า “เดินไปวัดพระแก้ว (ตอนนั้นเสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เพราะกำลังซ่อมพระตำหนักจิตรลดา) หาที่เหมาะ ๆ เขียนรูป ได้ที่ใกล้ ๆ วิหารยอดหอพระนาค วาดหอพระนาค พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป วาดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง อาจารย์นิออน (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) กับพวกมาติดพลอย (บุษบกที่หอพระนาค) เลยช่วยเขาติดพลอย จนสิบเอ็ดโมง” ทรงเล่าขยายความว่า “เสด็จไปเขียนภาพแต่เช้า พอสายมีคนมาไหว้พระ ก็ทรงรู้สึกเกรงใจ เพราะอยู่ๆ มานั่งเกะกะ เขาไม่ได้มามุง เรานั่งอยู่ตรงระเบียง แทนที่เขาจะเดินมาดูรูปรามเกียรติ์ได้ เขาก็ต้องหลบเรา” จึงทรงเลิกวาด เป็นต้น
ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะผนวกกับทรงเป็นนักเล่าเรื่องผ่านการจดบันทึก โดยผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์จะนำมาแปลงให้เป็น Digital File บน Coral Platform ของ KX เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ชมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและเชื่อมโยงโลกศิลปะเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างไร้ขอบเขต
สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ที่ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM ในวันธรรมดาเปิดให้เข้าชม เวลา 11.00-20.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. จากนั้นจะนำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ขึ้นบนเว็บไซต์ coralworld.co เพื่อจัดแสดงและขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคต่อไป ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป