ข่าวโควิดวันนี้ ไทยพ้นจุดสูงสุดแล้วใช่ไหม เป็นขาลงจริงหรือไม่ อ่านเลย

07 พ.ค. 2565 | 00:49 น.

ข่าวโควิดวันนี้ ไทยพ้นจุดสูงสุดแล้วใช่ไหม เป็นขาลงจริงหรือไม่ อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยสรุปสถานการณ์โควิดระลอกสี่โอมิครอน

ข่าวโควิดวันนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชน ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน และผู้เสียชีวิต

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โควิดระลอกที่ 4 จากโอมิครอน (Omicron) อยู่ในช่วงขาลงชัดเจน จำนวนผู้ป่วยหนักลดลงจากจุดสูงสุด 17-23% จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง 72-89% และผู้เสียชีวิตลดลง 51.9%

 

ไวรัสโอมิครอนมีลักษณะเหมือนกันทั่วโลกคือ มีการติดเชื้อที่ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา

 

จึงทำให้ระลอกนี้ของการติดโควิดทั่วโลก พบในลักษณะขึ้นเร็ว ขึ้นสูงมาก และลงเร็ว ซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากให้กับระบบสุขภาพ มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น

 

สำหรับประเทศไทย เพื่อรักษาระบบสุขภาพให้รองรับผู้ป่วยได้ดี ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่มาก จึงเลือกวิธีให้จุดสูงสุดขึ้นช้ากว่าประเทศตะวันตก และก็จะลงช้ากว่าเช่นกัน

 

ในระลอกที่สี่ นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบชัดเจนว่าจุดสูงสุดของระลอกนี้อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นก็ลดลงอย่างชัดเจน

 

โดยสถิติที่มีความแม่นยำมากที่สุดในขณะนี้คือ จำนวนผู้ป่วยหนักที่มีปอดอักเสบ และผู้ป่วยหนักมากที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

โดยพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบ

 

  • มีจำนวนสูงสุด 2123 ราย (18 เมย.) 
  • ลดลงมาเป็น 1622 ราย (6พค.)
  • ลดลง 23.6%

 

ผู้ป่วยหนักมากใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

  • จำนวนสูงสุด 940 ราย (19 เมย.)
  • ลดลงมาเหลือ 778 ราย (6พค.)
  • ลดลง 17.2%

 

ในขณะที่ผู้ติดเชื้อแบบ PCR 

 

  • สูงสุดที่ 28,379 ราย (1 เมย.)
  • ลดลงเหลือ 7705 ราย (6พค.)
  • ลดลง 72.8%

 

ข่าวโควิดวันนี้ ไทยพ้นจุดสูงสุดแล้วใช่ไหม

 

ผู้ติดเชื้อแบบ ATK 

 

  • สูงสุดที่ 49,494 ราย (10 มีค.)
  • ลดลงเหลือ 5288 ราย (6พค.)
  • ลดลง 89.3%

ทำให้ผู้ติดเชื้อรวม

 

  • ที่เคยสูงสุด 72,478 ราย (10 มีค)
  • ลดลงเหลือ 12,993 ราย (6พค.)
  • ลดลง 82.1%

 

กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อที่มีการรายงาน  ได้ลดลงจากจุดสูงสุด 72-89%

 

ในส่วนจำนวนผู้รักษาตัวอยู่ในระบบซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม และการแยกกักที่บ้านนั้น 

 

จุดสูงสุดคือ 259,126 ราย

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565

 

ลดลงเหลือ 97,672 ราย

 

ลดลง 62.3%

 

ผู้เสียชีวิต

 

จุดสูงสุด 129 ราย

 

เมื่อวันที่ 19,21 และ 23 เมษายน

 

ลดเหลือ 62 ราย

 

หรือลดลง 51.9%

 

เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวม จะเห็นได้ว่า

 

  • ผู้ติดเชื้อ ลดลง 72-89% 
  • ผู้เสียชีวิต ลดลง 51.9% 
  • ผู้ป่วยอาการหนัก ลดลง 17-23%

 

แต่ตัวเลขที่น่าจะมีความแม่นยำมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ จำนวนผู้ป่วยหนักที่มีปอดอักเสบ และผู้ป่วยหนักมากที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

เพราะโควิดทุกรายที่ป่วยหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น ก็คงเข้ามาโรงพยาบาลเกือบทั้งหมด (ถ้าไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน)

 

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนเดือนพฤษภาคม ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับผู้ป่วยหนัก

 

เพียงแต่นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ได้มีการแยกจำนวนผู้เสียชีวิตออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้เสียชีวิตโดยตรงจากโรคโควิด และกลุ่มที่เสียชีวิตจากโรคร่วมแต่พบการติดเชื้อด้วย

 

จึงทำให้การเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตในเชิงร้อยละ ว่ามีการลดลงเท่าใด ไม่สามารถคำนวณเปรียบเทียบได้ นอกจากจะนำตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รวมทั้งสองกลุ่มในปัจจุบันไปเทียบกับจุดสูงสุดเดิม ซึ่งคาดว่าก็จะลดลงน้อยกว่า 51.9%

 

ข่าวโควิดวันนี้ ไทยพ้นจุดสูงสุดแล้วใช่ไหม

 

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อทั้ง PCR และ ATK ล้วนแต่มีเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้มีการตรวจลดลง เช่น

 

โควิดจากไวรัสโอมิครอน มีคนติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการถึง 50%  ทำให้จำนวนผู้ที่จะมาตรวจ PCR ที่โรงพยาบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

และผู้ติดเชื้ออีกครึ่งหนึ่งที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ก็อาจจะไม่ได้ตรวจ ATK ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก แต่ไม่ประสงค์จะรับยา ก็จะไม่มีสถิติรายงานเข้าสู่ระบบ

 

จึงทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น  PCR หรือ ATK มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

จึงทำให้พอสรุปได้ว่า

 

  • โควิดระลอกที่ 4 จากไวรัสโอมิครอนของประเทศไทย ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
  • ขณะนี้โควิดของไทย กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยมีสัดส่วนการลดลงร้อยละ 17-23% โดยใช้ตัวเลขผู้ป่วยหนักมีปอดอักเสบ และผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นหลัก
  • การลดลงของผู้เสียชีวิต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ผู้เสียชีวิตจากโควิด จึงยังไม่สามารถใช้ตัวเลขดังกล่าวในปัจจุบัน มาพิจารณาเปรียบเทียบการลดลงจากสถิติเดิมได้
  • จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง นอกจากเกิดจากเป็นช่วงขาลงแล้วนั้น เหตุที่มีสัดส่วนการลดลงเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากมีจำนวนการตรวจ หรือการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าที่ติดเชื้อจริง

 

คงจะต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป  โดยทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ตามบทบาทหน้าที่ที่สามารถทำได้ เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ของประเทศไทย ลดความรุนแรงลง ทั้งในมิติของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต