หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้บุกค้นอาศรมพระบิดา ของนายทวี หนันรา หรือโจเซฟ และพบมีการผลิตปลาร้าบอง ยี่ห้อแซ่บหลาย และแบ่งบรรจุอาหารแห้งจำนวนมาก ประเภทปลาแห้ง ปลาหมึกแห้ง ปลากรอบ ถั่วทอด โดยไม่มีการขออนุญาตสถานที่ผลิตให้ถูกต้อง และสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว คาดรู้ผลสัปดาห์หน้า เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อปลาร้าบอง ยี่ห้อแซ่บหลาย และอาหารแห้งที่แบ่งบรรจุมารับประทาน เสี่ยงได้รับอันตรายจากอาหารที่ผลิตหรือแบ่งบรรจุในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิเข้าตรวจค้นอาศรมพระบิดา นายทวี หนันรา หรือโจเชฟ ที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พบมีการผลิตและแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารแห้งจำนวนมากนั้น
เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบไม่มีการขออนุญาตสถานที่ผลิตให้ถูกต้อง สถานที่ผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งยังมีการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาร้าบอง ลักษณะบรรจุใส่ตลับสีแดงอีกด้วย เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาสิ่งปนเปื้อน หรือเชื้อโรคต่าง ๆ คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบภายในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ สถานที่ผลิตปลาร้าบองต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปลาร้าบอง ต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมีการแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด โดยแสดงรายละเอียด เช่น ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก เลขสารบบอาหารภายใต้เครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบที่อาศรม ยังพบอาหารแห้งที่แบ่งบรรจุใส่ถุงพลาสติกจำนวนมาก แขวนและวางเรียงรายในพื้นที่โดยไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ปลาหวาน ปลาหมึกแห้ง ปลากรอบ ถั่วลิสงทอด ถั่วลันเตาทอด ข้าวเกรียบ เป็นต้น จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่แบ่งบรรจุเหล่านี้มารับประทาน
เพราะอาจมาจากสถานที่แห่งนี้ที่มีการแบ่งบรรจุอาหารอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิได้ตรวจสอบการจำหน่ายอาหารในร้านค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ และร้านค้าในพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ รวม 13 แห่ง ไม่พบว่ามีการจำหน่ายอาหารจากลัทธิดังกล่าว
และมีหนังสือแจ้งไปยังสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งในจังหวัด ให้ตรวจสอบร้านค้าหรือร้านชำในหมู่บ้านว่ามีการจำหน่ายอาหารจากลัทธิดังกล่าวหรือไม่
รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดโดยเร็ว ฝากถึงผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขอให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก และมีเลข อย.