นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 8 อิสระ เชิญชวนชาวกรุงเทพฯตัดสินใจเลือกตนไปเป็นผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 22 พ.ค.2565 ที่จะถึง ขณะร่วมรายการ"โค้งสุดท้ายศึกชิงผู้ว่าฯกทม.65"ทางช่องเนชั่นทีวี ว่า ตลอดช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้เดินพบปะประชาชนชาวกรุงเทพฯ ยิ่งเดินก็ยิ่งอยากทำกรุงเทพฯให้น่าอยู่สำหรับทุกคน
คำว่าสำหรับทุกคนนี้มีความหมาย เนื่องจากคนกรุงเทพฯมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทีมทำงานของตนจึงได้เตรียมแผนงานแก้ปัญหาไว้ถึง 200 แผนงาน เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาและความต้องการที่ต่างกันออกไป
ทั้ง 200 แผนงานนั้นแบ่งเป็น 9 ด้าน 9 ดี ว่าด้วยเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การบริหารจัดการ การสัญจร โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และการสร้างสรรค์ ครอบคลุมทุกมิติทุกด้านของชาวกทม. โดยผู้ว่าฯมีหน้าที่กำกับดูแล 3 อย่าง คือ
1.ดูแลคุณภาพชีวิตคนกทม.ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ขยะ การเดินทาง สุขภาพอนามัย การศึกษา ฯลฯ ที่ต้องดูแลให้สมดุล ทั่วถึง เป็นธรรม เราโหมลงทุนในเมกะโปรเจ็กขนาดใหญ่ ทั้งที่จริงถ้าไปถามคนลาดกระบังสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ เวลานี้อาจเป็นเลนจักรยานขนาด 1-2 เมตรมากกว่า จึงต้องดูให้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่
2.กำกับดูแลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ต้องโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น มีประสิทธิภาพ มาติดต่อจุดเดียวจบครบทุกเรื่อง หรือการดูแลประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน
" 2 เรื่องข้างต้นเป็นงานของ Manager ดูแลการบริหารจัดการต่าง ๆ เป็นภารกิจประจำที่ต้องทำต้องดูแล แต่ผู้ว่าฯกทม.ยังมีอีกภารกิจซึ่งเป็นมิติของซีอีโอ คือต้องเป็นผู้นำสร้างโอกาส วางยุทธศาสตร์กรุงเทพฯในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นอะไร หากผมได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะเป็นผู้นำในการสร้างโอกาส วางรากฐานเพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค พร้อมเป็นผู้นำสร้างความหวัง นำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้คนกรุงเทพฯทุกคน"
ส่วนการตอบประเด็นคำถามในรายการนั้น นายชัชชาติกล่าวถึงนโยบายการดูแลด้านการทำมาหากินของคนกรุงเทพฯว่า หากเร่แผงลอยจำเป็นต้องอยู่คู่กับกรุงเทพฯ ในอดีตเรามีจุดผ่อนผันให้ตั้งหาบเร่แผงลอย 773 จุด ทุกวันนี้เหลือ 84 จุด มีหาบเร่แผงลอยหายไปถึงหมื่นกว่าคนที่ไม่มีงานทำ ซึ่งต้องเข้ามาดูแลแต่ทั้งนี้หาบเร่แผงลอยต้องไม่เบียดสิทธิคนเดินเท้า
"การเปิดให้วางหาบเร่แผงลอยมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ เริ่มจาก 1.เปิดลงทะเบียนให้รู้ความต้องการ พร้อมกับการอบรมเรื่องสุขอนามัย มาตรฐานการบริการ ขณะเดียวกัน 2.ต้องมีการสำรวจพื้นที่ที่พร้อมเป็นจุดตั้งหาบเร่แผงลอย ที่ไม่สร้างปัญหาคนเดินเท้า และ 3.ต้องมีกลไกคณะกรรมการในพื้นที่ขึ้นมาดูแลกฎระเบียบ อาทิ ย่านซอยอารีย์ ที่มีกติกา เกิดความสะอาดเรียบร้อย เกิดประโยชน์ทั้งหาบเร่และผู้ค้าตามร้านหรือห้องแถว"
นอกจากนี้ต้องหาพื้นที่ของกทม. ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนที่ดินเอกชนที่พร้อม เพื่อเข้าปรับปรุงและเปิดเป็นพื้นที่จำหน่ายสตรีท ฟู้ดส์ ให้คนหาบเร่แผงลอยเข้าไปทำมาหากินได้ กทม.ต้องเข้าไปช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ให้อยู่ข้างถนนไปตลอด
ด้านปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันคนกรุงเทพฯ นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องทางเท้าเป็นปัญหาโดยตรงของกทม.ที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รับว่าที่ผ่านมามีปัญหา เรื่องนี้ต้องแก้ตั้งแต่การออกแบบกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างให้ถูกหลักวิชาการ การคุมงานต้องดีเป็นไปตามแบบ โดยต้องทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองเดินได้ โดยจะสร้างทางเท้ามาตรฐานอย่างน้อย 1,000 กิโลเมตร
ยังมีเรื่องไฟฟ้า อย่าให้สว่างเฉพาะที่ป้ายรถเมล์ ซึ่งเป็นเหมือนโอเอซิสยามค่ำคืน ต้องดูแลให้มีไฟฟ้าแสงสว่างอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในเมืองนอกเมือง โดยเฉพาะจุดเสี่ยง ที่ต้องดีมีคุณภาพ ส่วนเรื่องผลกระทบจากตึกสูงทั้งระหว่างก่อสร้าง หรือการบังแดดลมนั้น สำคัญที่สุดคือกระบวนการทำรายงานสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องเป็นประชาพิจารณ์ที่แท้จริง ผู้เกี่ยวข้องโดยรอบโครงการก่อสร้างต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และปัญหาของเขาต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง
ด้านการพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยา และดูแลสายน้ำเจ้าพระยาให้ยั่งยืนนั้น นายชัชชาติชี้ว่า 2 ฝั่งเจ้าพระยามีค่าทั้งสองฝั่ง โดยแต่ละพื้นที่แต่ละย่านมีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป จึงได้เสนอนโยบาย 50 ย่าน 50 อัตลักษณ์ โดยการพัฒนาต้องให้สอดคล้องกับจุดแข็งหรืออัตลักษณ์ถิ่นที่แตกต่างกันไปทั้งฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ที่มีบริบทแตกต่างกันออกไป
"ส่วนสายน้ำเจ้าพระยานั้นคือสายเลือดของประเทศและคนกรุงเทพฯ ต้องดูแลรักษาคุณภาพแม่น้ำ ดูแลปัญหาน้ำท่วม ดูแลคันกั้นน้ำ ให้โครงสร้างและกลไกที่มีอยู่แล้วต้องทำงานให้สอดประสานและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาเมือง ทำให้เมืองสวยงาม สะอาดเรียบร้อย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกทม.ที่เป็นผู้อยู่อาศัย และยังจะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวมาช่วยสร้างเศรษฐกิจของเมืองได้ด้วย"นายชัชชาติย้ำ
ส่วนประเด็นคำถามส่งท้าย เรื่องนโยบายการดูแลการชุมนุมในกรุงเทพฯนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า การชุมนุมสาธารณะมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมอยู่แล้ว ตำรวจมีหน้าที่กำกับดูแลการชุมนุม ขณะที่กทม.พร้อมดูแลการให้บริการ โดยต้องเท่าเทียมกันทุกฝ่าย