ระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าบทบาทของ "หมอปลา" นายจีระพันธ์ เพชรขาว เจ้าของฉายา มือปราบสัมภเวสี สร้างแรงกระเพื่อม โดยเฉพาะคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก บางวัดถึงกับขึ้นป้ายไม่ต้อนรับ
เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมตรวจสอบและจับผิดพระ แต่ละเรื่องที่เคลื่อนไหวล้วนได้รับความสนใจจากสังคม พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่าหน่วยงานกำกับดูแลคณะสงฆ์โดยตรง ทำหน้าที่ได้เต็มที่แล้วหรือยัง
สำหรับประเด็นร้อนของ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” อายุ 98 ปี แห่ง จ.ยโสธร กับ หมอปลา ที่เจอกระแสฟาดกลับ และตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าก้าวล่วงหลวงปู่ งานนี้ทำเอาหมอปลาเจอบทเรียน ไปเต็มๆ พร้อมโดนแจ้งความดำเนินคดีกับหมอปลา พร้อมพวก ใน 4 ข้อหากล่าวหา
ขณะที่กรณีที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยก็คือ หมอปลาเข้าไปทลายลัทธิประหลาดของชายคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็น "พระบิดา" ใน จ.ชัยภูมิ โดยมีพฤติกรรมเปิดสำนักรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาอย่างยาวนานด้วยการกินสิ่งปฏิกูล
หมอปลา ได้รับฉายา มือปราบสัมภเวสี เริ่มเป็นที่รู้จักหลังมีการเปิดเผยคลิปวิดีโอช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทน มีเอกลักษณ์คือ การทุบ รื้อศาลพระภูมิ ศาลตายาย โดยระบุว่าวิญญาณถ้ามีที่สิงสถิตจะไม่หลุดพ้น ไม่ไปผุดไปเกิดสักที จึงต้องทำลายศาลทิ้งเพื่อให้ไม่มีที่อยู่ และไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ ทำให้เจ็บป่วยอีกประชาชนจึงมักร้องเรียนเรื่องผิดปกติให้เข้าตรวจสอบมากกว่าร้องเรียนหน่วยงานรัฐ
การพลิกบทบาทจากมือปราบสัมภเวสีสู่การเดินสายบู๊ “สึกพระนอกรีต” สร้างเรตติ้งพุ่งกระฉูด เพราะได้กลายเป็นคอนเทนต์โดนใจผู้ชม เมื่อเข้าไปตรวจสอบ “ยูทูป” หมอปลา [Official Channel]" ที่อัพโหลดเนื้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหมอปลา ปัจจุบันนี้มีผู้ติดตาม 2.45 ล้านคน รวมถึงเพจ “หมอปลาช่วยด้วย” ก็มีคนติดตามคึกคักกว่า 3.8 ล้านคน
การเป็นหัวหอกไล่สึกพระนอกรีตของหมอปลา มาพร้อมกับหลายความเห็นจากคนในสังคมถึงบทบาทของหมอปลา บางส่วนตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของหมอปลาว่ามีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแลคณะสงฆ์หรือไม่
"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบการทำหน้าที่ของหมอปลา ที่กำลังกลายเป็นกระแสสังคม ผ่านมุมมองนักอาชญวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต ระบุว่า การตรวจสอบเป็นสิ่งดี แต่ต้องมีเหตุผล รอบคอบ ไม่ใช้อารมณ์ หรืออยากมีตัวตน เพราะส่งผลเสียหากการตรวจสอบไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา มักมีความอ่อนไหว จะต้องละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นดาบสองคม
ขณะนี้การทำหน้าที่ของหมอปลาสะเทือนไปถึงมหาเถรสมาคม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพุทธฯ ไม่นิ่งนอนใจ มีมติตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตร เป็นคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ และกำหนดโทษแก่พระที่ปฏิบัติไม่เหมาะสมแล้ว
"เราอยู่มา 2,500 ปี เรามีพระที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าดูแลมาตลอด และเป็นอย่างนี้ตลอด 2,500 ปี จนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นคงไม่พึ่งใครคนใดคนหนึ่ง ที่บอกว่ามาจัดการการเพื่อศาสนา ผมคิดว่าการกระทำบางอย่างมันเหมือนดี แต่สิ่งนี้ทำให้ผู้คนมองผ้าเหลือง มองศาสนาไปอีกอย่างหนึ่ง ท่านคิดว่าท่านทำถูกแล้วหรือ ถ้าเป็นระยะยาว ท่านทำไม่ถูก เราไม่ต้องพึ่งท่านหรอก เพราะท่านมีจิตใจที่ไม่ปกติแน่นอน” อนุชากล่าว
บทบาทของ “หมอปลา” มือปราบสัมภเวสี ถึง “ไล่สึกพระนอกรีต” จะเรียกว่าเป็นวิบากกรรมได้หรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่ อ.ชนม์ทรรศน์ ฤทัยผ่อง หรือซินแสเข่ง ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์พยากรณ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์เจาะลึกดวงชะตาจากพื้นฐานดวงชะตาของหมอปลา ว่า รวยจริงแต่ชะตากรรมถูกจะลงโทษ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะป้ารัตนาสาปแช่ง จับผี ทุบศาล ทำลายเทวรูป เป็นกรรมจากการกระทำที่ ส่งผลถึงลูกหลาน
ขอบคุณภาพ : หมอปลาช่วยด้วย ไพรวัลย์ วรรณบุตร