ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อควรรู้เกี่ยวกับฝีดาษลิงว่า
โรคนี้วินิจฉัยครั้งแรกพบในลิง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง (Monkeypox) ผู้ป่วยในมนุษย์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ได้ติดจากลิง เคยมีหลักฐานการติดต่อจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ จำพวกหนู กระรอก เช่นหนูแกมเบีย (Giant Gambian rat) ที่นำเข้าไปในอเมริกา และมีการติดต่อไปสู่หนูแพรี่ด็อก และคนติดมาอีกทีหนึ่ง
การเรียกฝีดาษลิง จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลิง เพราะคนเราจะรังเกียจลิง ลิงที่อยู่ตามวัด ในบ้านเรามีมาก จะขาดแคลนอาหาร เป็นที่เดือดร้อนของชาวลิงอย่างแน่นอน
โรคในตระกูลฝีดาษหรือไข้ทรพิษ สมัยก่อนมีฝีดาษวัว ที่ข้ามมายังมนุษย์ได้และนำมาใช้ทำวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษทำให้โรคนี้หมดไป เพราะการติดฝีดาษวัว จะเป็นตุ่มหนองเฉพาะตรงที่สัมผัสเท่านั้น หรือเรียกว่าขึ้นเฉพาะที่ ส่วนฝีดาษนกหรือไก่ยังไม่มีหลักฐานการข้ามมายังมนุษย์
ลักษณะตุ่มฝีดาษหรือไข้ทรพิษ หรือในตระกูลฝีดาษ ตุ่มหนองจะเริ่มจากรอยแดงแล้วเป็นน้ำใสและเปลี่ยนเป็นน้ำขุ่นข้น สีขาวเหลือง ตรงกลางจะมีรอยบุ๋ม ซึ่งต่างกับ โรคสุกใสที่เกิดจากไวรัสต่างกลุ่มกันจะเป็นน้ำใส
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนกับโรคสุกใส ที่สมัยผมเป็นนักเรียนต้องท่องได้ มี
ตุ่มของฝีดาษ จะขึ้นพร้อมกันระยะเดียว เหมือนกัน เริ่มจากแดงเป็นตุ่มน้ำและตกสะเก็ดพร้อมๆกัน แต่ของสุกใสจะมีหลายระยะเช่นบางตุ่มเป็นแค่ตุ่มแดงบางตุ่มเป็นน้ำใสแล้ว
การกักตัวผู้ป่วยจึงต้องกักตัวให้แผลทุกแผลตกสะเก็ดหมด จึงจะพ้นระยะติดต่อ สำหรับผู้สัมผัสโรคจะต้องกลับตัวดูอาการ 21 วันตามระยะพักตัวที่มากที่สุด
บริเวณที่ขึ้นตุ่มของสุกใสจะขึ้นบริเวณลำตัวมากกว่า ส่วนของฝีดาษจะขึ้นมากที่แขนขาแล้วค่อยไปลำตัว
ลักษณะของตุ่มฝีดาษจะบุ๋มตรงกลางที่เรียกว่า umbilicated vesicle ส่วนของสุกใสจะเป็นตุ่มน้ำใสหลายระยะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝีดาษลิงที่กำลังระบาดและพบอยู่ขณะนี้ พบในเพศชายเกือบทั้งหมด
ฝีดาษวัวป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษ โดยหลักการแล้วก็น่าจะข้ามมาป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่ขณะนี้ก็มีการพัฒนาวัคซีนฝีดาษเด็กโดยตรง