หลายคนคงเคยตั้งคำถามว่า ทำไม้ต้องรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น แล้วจะต้องรับอีกกี่เข็ม
World Health Organization Thailand หรือ WHO Thailand ตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า
เหตุผลแรกที่เราต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อและจากวัคซีนสามารถเสื่อมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่ได้เจอเชื้อโรคเป็นเวลานาน ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อมก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรค เช่น วัคซีนโรคหัดจะให้ภูมิคุ้มกันสูงสุดได้นานมาก หรือวัคซีนไข้เหลืองเข็มเดียวสามารถปกป้องเราได้ตลอดชีวิต
แต่เนื่องจากโรคโควิดเพิ่งจะระบาดเมื่อปี 2019 เราเลยยังมีข้อมูลไม่มากว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราและวัคซีนจะรับมือกับเชื้อนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเรานำวัคซีนที่มีมาใช้และเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีโอมิครอน ข้อมูลที่เรามีระบุว่าวัคซีนต้านโควิด 19 สายพันธุ์ก่อนโอมิครอน จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงป้องกันการป่วยหนัก การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต
เหตุผลที่สองที่เราต้องรับเข็มกระตุ้นก็เพราะว่าเชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้เร็ว หากการกลายพันธุ์ทำให้โปรตีนที่เปลือกหุ้มของไวรัสเปลี่ยนไป ภูมิคุ้มกันของเราอาจจะจดจจำเชื้อโรคไม่ได้ เพราะอย่างนี้ เราถึงต้องฉีดไวรัสต้านไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์บ่อยมาก
ข้อมูลที่เรามีชี้ว่าวัคซีนต้านโควิด 19 ที่เรามีป้องกันการติดเชื้อจากโอมิครอนได้ไม่ดีเท่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ถึงอย่างนั้น วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังปกป้องเราไม่ให้ป่วยหนักจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโควิด 19 รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากที่รับเข็มพื้นฐานไปแล้วประมาณ 4-6 เดือน เหตุผลก็เพราะว่าวัคซีนจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามกาลเวลา และปกป้องเราจากการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจากโอมิครอนได้น้อยลง
วัคซีนต้านโควิด 19 ยังคงปกป้องเราจากการป่วยรุนแรงได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรับวัคซีนเมื่อถึงคิว
เหตุใดผู้สูงอายุจึงควรรับวัคซีนต้านโควิด
เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะป่วยและเสียชีวิตจากโควิด 19 สูงกว่าคนที่อายุน้อยกว่าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน
ผู้สูงอายุและคนทุกวัยที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด หรือมะเร็ง) มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะป่วยหนักเมื่อติดเชื้อโควิด 19 และเนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว พวกเขาจึงมีความเสี่ยงถึงสองเท่า หรืออาจเป็นสามเท่า หากมีโรคในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าหนึ่งอย่าง
การวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยใน 2 เดือนแรกของปี 2565 พบว่าร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจากผู้เสียชีวิต 928 ราย ร้อยละ 60 ไม่ได้รับวัคซีน การวิเคราะห์ล่าสุดอีกหนึ่งชิ้นในประเทศไทยชี้ว่า การรับวัคซีน 2 เข็มช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้ 6 เท่า และการรับวัคซีน 3 เข็มลดความเสี่ยงได้ 41 เท่า
ข้อมูลปัจจุบันยังแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 83.3 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในประเทศไทยได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ร้อยละ78.8 ได้รับ 2 เข็ม และร้อยละ 32 ได้รับ 3 เข็ม แม้ว่าสัดส่วนเหล่านี้จะค่อนข้างสูง แต่ก็ยังหมายความว่า อีกร้อยละ 20.2 ของกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทยยังได้รับวัคซีนเข็มพื้นฐานไม่ครบ
ปัจจุบันสัดส่วนผู้ป่วยโควิด 19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังเพิ่มสูงขึ้น และเป็นเหตุให้เราควรกังวล เนื่องจากในช่วงสงกรานต์ ประชากรที่อายุน้อยกว่าและอาจติดเชื้อจะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัว รวมถึงญาติผู้สูงอายุ
ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องจริงจังมากขึ้นในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันขั้นพื้นฐานที่เราทราบดีว่าช่วยตัดวงจรการระบาด และทำให้เส้นกราฟราบลง รวมทั้งสวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและอากาศไม่ถ่ายเท หมั่นล้างมือ และไอจามอย่างถูกวิธี กล่าวคือ ไอจามใส่ข้อพับแขนด้านในหรือทิชชู และทิ้งในภาชนะที่ปลอดภัย
องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ
- ผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ต้องเข้ารับวัคซีน
- ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ต้องรับเข็มที่ 2 ตามเวลาที่กำหนด
- ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาเกินกว่า 3 เดือนแล้ว ต้องเข้ารับเข็มที่ 3 โดยเร็วที่สุด
- ครอบครัวควรดูแลและช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนก่อนเทศกาลสงกรานต์