พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ภาพจากกล้องหน้ารถ แชร์ลงโซเชียลฯ ได้ไหม?

31 พ.ค. 2565 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 12:27 น.

กฎหมาย PDPA จะบังคบใช้ในวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) หลายคนอาจสงสัยเกี่ยวกับภาพจากกล้องหน้ารถ สามารถแชร์ลงโซเชียลฯ ได้ไหม? หาคำตอบได้ที่นี่

PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ วันที่ 1 มิถุนายน โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อย่อ PDPA (Personal Data Protection Act)  นี้เป็น พ.ร.บ.ที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ปกป้องข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม

หลายคนอาจเข้าใจผิดต่อเรื่องหลักการเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน แต่ที่จริงแล้ว หลักการคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใสเท่านั้น

ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เเละระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบุว่า การบันทึกภาพจากกล้องหน้ารถขึ้นอยู่กับว่าเป็นการใช้ส่วนตัวหรือไม่ และต้องระวังด้วยว่าการใช้ส่วนตัวมีโอกาสละเมิดสิทธิคนอื่นไหม ซึ่งการติดกล้องหน้ารถไม่ได้ละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะมีไว้เพื่อบันทึกหลักฐานในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์สุดวิสัย สามารถนำภาพเหล่านั้นไปใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้

 

แต่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อภาพที่ติดกล้องหน้ารถถูกนำไปเผยแพร่นอกเหนือจากการเอามาใช้เพื่อยืนยันความผิดของตน หรือเอาไว้ยืนยันทางกฎหมาย ตอนเอาไปเผยแพร่อาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้

 

"ตราบใดไม่มีผู้เสียหายหรือเดือดร้อนก็สามารถทำได้ เพราะก่อนจะลงโซเชี่ยลต้องถามตัวเองก่อนว่าจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม เช่น ถ้าขับรถไปถ่ายภาพบนถนน ทิวทัศน์ต่างๆ อันนี้ทำได้ เเต่ถ้าเจอสามีภรรยายืนทะเลาะกันเเล้วเอามาลงโซเชี่ยลก็อาจสุ่มเสี่ยงเป็นการละเมิดสิทธิเเละเสี่ยงถูกฟ้อง ถ้าขับรถไปแล้วกล้องหน้ารถบันทึกภาพเหตุการณ์อุบัติเหตุได้สามารถนำไปยืนยันทางกฎหมายได้ เรื่องนี้อยู่ที่เจตนาเเละการตีความ อยากให้มองว่าหากคุณมีความเสี่ยงกับไม่มีความเสี่ยงจะเลือกเอาอะไร"