อาหารติดหลอดลม อันตรายถึงชีวิต แนะ วิธีเอาตัวรอดเมื่ออยู่คนเดียว

07 มิ.ย. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 16:16 น.

อาหารติดหลอดลม อันตรายถึงชีวิต หากเกิดอาการสำลักต้องทำอย่างไร แนะ วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อเอาตัวรอดเมื่อต้องอยู่คนเดียว

จากกรณีน้องอลิส เน็ตไอดอลเสียชีวิตในวัย 28 ปี หลังจากรับประทานอาหารติดหลอดลมขณะที่เธออยู่คนเดียวทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทันท่วงทีส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรานานกว่า 2 เดือนนั้น ทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูถึงอาการและสาเหตุซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนเพื่อใส่ใจและระมัดระวังในการดูแลสุขภาพกันให้มากขึ้น  

 

การสำลัก สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  3  ปีซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจ ชอบทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจอัน เช่น รูจมูก และปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโต ให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหาร และวิ่งเล่นไปด้วย

 

สำหรับผู้ใหญ่สามารถเกิดปัญหาสำลักได้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยพยายามจะทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในขณะกินอาหาร เช่น พูด และ หัวเราะ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาการสำลักตามมาได้

ภาวะฉุกเฉินกรณีทางเดินหายใจอุดกั้น

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจผู้ป่วยจะมีอาการสำลักไออย่างรุนแรงและมีอาการหายใจลำบากได้ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่างและตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม สิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่มักติดค้างและเกิดการอุดตันในระดับของกล่องเสียงหรือหลอดลมส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์และเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีประวัติสำลักในขณะรับประทานอาหาร กุมฝ่ามือไว้ที่ลำคอ พูดไม่มีเสียง กระสับกระส่าย และหายใจไม่เข้า ริมฝีปากเขียวคล้ำ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที

 

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสำลักอาหาร

1. กรณีที่เรารับประทานอาหารอยู่คนเดียว แล้วจู่ ๆ เกิดสำลักอาหารขึ้นมา ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

 

  • รวบรวมสติ แล้วดื่มน้ำ แต่หากไม่มีน้ำ พยายามยืดคอตรง ๆ เพื่อเปิดหลอดอาหารให้กว้างขึ้น แล้วไอออกมาแรงๆ

 

  • กำมือหนึ่งข้างนำมาวางบริเวณเหนือสะดือ (กรณีคนอ้วน/ท้อง เปลี่ยนตำแหน่งเป็นร่องอก ) แล้วใช้มือข้างที่เหลือนำมากุมมือที่กำไว้ กระทุ้งให้สิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย / หากแรงกดไม่พอ ลองใช้ขอบโต๊ะ หรือเก้าอี้ช่วยเพิ่มแรงกด

 

  • ออกไปหาคนช่วยเหลือ หรือโทร. เรียกหน่วยกู้ชีพ

 

2.กรณีเห็นคนอื่นสำลักอาหาร

เริ่มจากสังเกตอาการก่อน หากเห็นว่า เขาจะหายใจไม่ออก เอามือกุมคอ พยายามจะพูดแต่ไม่มีเสียง ต้องรีบถามเลยว่า สำลักอาหารใช่หรือไม่ หากเขาส่งสัญญาณว่าใช่ ให้ปฏิบัติดังนี้

  • ไปทางด้านหลังของผู้ที่สำลักอาหาร
  • เอามือสองข้างโอบรอบพุงของคนที่กำลังสำลัก
  • มือข้างหนึ่งกำไว้แล้วเอามือที่เหลือมากุม บริเวณเหนือสะดือ แต่ใต้ลิ้นปี่
  • ออกแรงกระทุ้งแรง ๆ ในลักษณะกระชากสองมือเข้าหาตัวเอง
  • ทำเรื่อย ๆ จนผู้ที่สำลักอาหารมีอาการไอ หรือพูดให้ได้ยินเสียง ก็ถือว่า ดีขึ้น


ที่มา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, กรมอนามัย, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)