ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เข้าร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในการติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 โดยมีคณะองคมนตรีเข้าร่วมรับฟังการประชุม มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ทั้งนี้ ดร.ชมภารี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้กล่าวสรุปรายงานปริมาณฝนและการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ดังนี้
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม ของปีนี้ จะเกิดฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ต้องระวังพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งพื้นที่ที่มักมีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก
ส่วนเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ฝนจะเริ่มกลับมาตกชุกเพิ่มขึ้น คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก ในบริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน ให้ระวังผลกระทบจากฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์ฤดูฝนสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณฝนรวมช่วงฤดูฝนในปี 2565 จะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 แต่ฝนรวมจะน้อยกว่าปี 2564 ซึ่งมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 8
สำหรับปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 29 มี.ค. 2565 พบว่า ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ มีค่า 557.3 มิลลิเมตร โดยค่าฝนสะสมปกติอยู่ที่ 366.0 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 52% หากพิจารณาเป็นค่าที่สูงต่ำเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ พบว่า พื้นที่ภาคอีสานตอนบนบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติ
เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดกระบี่ โดยปริมาณฝนสะสมในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ในเดือนมกราคม 2565 มีการกระจายและมีปริมาณฝนเล็กน้อย
ส่วนเดือนมีนาคม และเมษายน มีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน และภาคใต้ และในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่ามีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย
กรมอุตุนิยมวิทยาจะเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาพอากาศที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้อย่างทันท่วงที โดยจะบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมของกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง ติดตามและพยากรณ์อากาศ โดยแบ่งการพยากรณ์เป็น 3 ระยะ ดังนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ติดตามสภาพอากาศ ทั้งในภาวะปกติและในสภาพอากาศที่มีความรุนแรง และออกประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อน ฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงฤดูฝน อากาศที่หนาวเย็นลงผิดปกติ และคลื่นลมแรง ในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าวประจำวัน ข่าวประกาศเตือนภัย อินโฟกราฟฟิก สื่อวิดีทัศน์ โดยเผยแพร่หลายช่องทาง ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นสื่อมวลชนในหลากหลาย Platform และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน