อัพเดทล่าสุด กัญชาถูกกฎหมาย ปลดล็อกปลูก-ใช้-นำเข้า-จำหน่าย ไม่ให้ผิด

17 มิ.ย. 2565 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 11:15 น.

อัพเดทล่าสุด กัญชาถูกกฎหมาย นับแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ปลดล็อกพืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด มีอะไรที่ทำได้เเบบไม่ต้องขออนุญาต และที่ต้องจดแจ้ง ขออนุญาตอยู่

กัญชาถูกกฎหมาย นับแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 รัฐบาลได้ปลดล็อกพืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา 

 

ปลดล็อกพืชกัญชา

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปลดล็อก พืชกัญชาถูกกฎหมายวันที่ 9 มิ.ย. นี้ มาดูกันว่ามีอะไรที่ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และเรื่องไหนที่ต้องจดแจ้งและขออนุญาตอยู่

 

อัพเดทล่าสุด : รัฐบาลได้ควบคุมการใช้กัญชา พิจารณาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม, อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้  แต่ห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร

 

 

 

อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาให้กับผู้ป่วยของตน และอนุญาตให้ผู้ป่วยข้างต้น สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

ดูประกาศที่นี่ คลิก 

 

การปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

  • ไม่ต้องขออนุญาต ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565
  • ให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง แจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application "ปลูกกัญ" ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้น 
  • เข้าสู่เว็บไซต์ คลิก หรือแอปพลิเคชั่น ปลูกกัญ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ แอนด์ดรอยด์

  • ลงทะเบียน

  • จดแจ้งตามวัตถุประสงค์

  • รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์

 

การสูบกัญชาถูกกฎหมาย

  • ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป การสูบกัญชา ไม่มีความผิดกฎหมายยาเสพติด
  • แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
  • การสูบกัญชาในที่สาธารณะ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเช่น บุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมอยู่

 

กัญชา กัญชง ที่ใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายถูกกฎหมาย

  • กัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
  • ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร
  • เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
  • ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารด้วย

 

ปลดล็อคกัญชากับการนำมาใช้ในอาหาร

สารสกัดพืชกัญชา กัญชง ที่ถูกกฎหมาย

  • ไม่ว่าจะเป็นการนำส่วนใดของพืชกัญชา กัญชง ไปสกัด สารสกัดที่ได้จะมี THC เท่าใดก็ตาม ต้องขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด) โดยผลผลิตสารสกัดที่ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน
  1.  สกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
  2. สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ

 

การจำหน่ายกัญชาแบบถูกกฎหมาย 

  • การจำหน่ายส่วนของพืชกัญชา ไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
  • การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
  • การจำหน่ายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
  • กรณีเป็นสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % ไม่ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ
  • สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
  • การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น

 

การนำเข้ากัญชา กัญชง ที่ถูกกฎหมายต้องทำอย่างไร

ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง  ห้ามนำเข้าสารสกัด ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ 

  • กรณีเพื่อการศึกษาวิจัย
  • กรณีเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ  เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัด 

  • ต้องขอรับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
  • กรณีนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ด้วย
  • เมื่อได้รับอนุญาต หากจะนำพืชกัญชา กัญชงมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชงให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วย ผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ
  • กรณีนำมาผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า
  • กรณีนำผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า
  • กรณีนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าเพื่อเป็น วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน

 

การนำเข้า นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง 

  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้เฉพาะตัว
  • ครอบคลุมการนำเข้าใน 2 ลักษณะ 1. การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 2. การส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัวไว้ว่า
  • ผู้นำเข้าต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เฉพาะตัวของผู้นำเข้าเอง พิจารณาจากรูปแบบของสินค้าที่นำเข้า  เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือวัตถุอันตราย หรือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์
  • หากผลิตภัณฑ์ จัดเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า หรือเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้า
  • การนำเข้าในรูปแบบส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน หากนำเข้ามาเป็นอาหาร เพื่อบริโภคส่วนตัวจะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564
  • ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ปลดล็อคกัญชา กัญชง

อ่านเพิ่มเติม: แนวทางการปลูก นำเข้า นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน