สถานการณ์โควิด-19 ถึงช่วงสิ้นสุดระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นแล้ว

12 มิ.ย. 2565 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2565 | 19:10 น.

ปลัด สธ. เผย สถานการณ์โควิด-19 ถึงช่วงสิ้นสุดระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นแล้ว ชี้ ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน

12 มิถุนายน 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด 19 ตลอด 2 ปีที่ผ่าน นับเป็นวิกฤตการณ์ภัยสุขภาพที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกมิติทั้งด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมาก อยู่ในช่วงสิ้นสุดการระบาดใหญ่เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอชื่นชมและขอบคุณเครือข่าย "ครัวกลางชุมชน คนขอนแก่นไม่ทอดทิ้งกัน" ที่เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นเพื่อนำวัสดุและเอกสารจดหมายเหตุมามอบให้กับหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและหัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการรับมือสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการทำงานอาศัยหลักวิชาการ พัฒนานโยบายและนวัตกรรม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ รวมถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติมาได้ 

สำหรับการรับมอบวัสดุและเอกสารจดหมายเหตุให้กับหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เป็น 1 ใน 6 กรณีตัวอย่างการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์สุขภาพภาคประชาชน ของโครงการ "จัดทำบันทึกเหตุการณ์สำคัญในสถานการณ์โรคโควิด 19 : รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19" ซึ่งกรณี "ครัวกลางชุมชน คนขอนแก่นไม่ทอดทิ้งกัน" ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคมไทย ทั้งภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น และส่งเสริมให้ชาวชุมชนช่วยเหลือชุมชน เกิดความรักใคร่กลมเกลียว

 

โดยการจัดตั้ง "ครัวกลางชุมชนฯโซน 1-6" ดำเนินการภายใต้แนวคิด "มีก็จ่าย ไม่มีก็แจก ใจดีก็บริจาค" นำรายได้มาซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารใส่ปิ่นโตให้ผู้ที่ประสบปัญหา รวมถึงดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เข้ารับการกักตัว ให้ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เน้นคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้ครัวเรือนละ 200 บาทต่อมื้อ ซึ่งเอกสารและวัสดุที่ได้รับในครั้งนี้ จะถูกเก็บรักษาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของชาติ รวมถึงเป็นกรณีศึกษาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อไป