แม้ว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในไทยวันนี้ ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงแต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ซึ่งล่าสุดทั่วโลกต่างจับตาและเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 กันอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้ กระทรวงสาธารณสุข รับมือสถานการณ์นี้หลังประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์โดยอัพเดทสถานการณ์สายพันธุ์โควิด19 ทั่วโลกและในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID มีรายงานในประเทศแถบยุโรปและแอฟริกาใต้ พบ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น โดย BA.4 พบ การกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80 ตำแหน่ง ขณะที่ BA.5 พบ การกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดประมาณ เกือบ 90 ตำแหน่ง
การกลายพันธุ์มากขึ้นก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและอาจจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคตแต่อาการจะรุนแรงมากหรือไม่ ยังต้องติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในรพ.มีอาการรุนแรงแค่ไหน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรปเกือบทั้งหมดที่เริ่มเห็นสัญญาณผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารพ.เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน โปรตุเกส ที่เข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่า 80 % รองลงมา คือ แอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50 % ตามมาด้วยอังกฤษ, ออสเตรีย , เนเธอร์แลนด์ , ฝรั่งเศส , เยอรมนี , เบลเยี่ยม , สเปน , อิตาลี และเดนมาร์ก
ขณะนี้บางประเทศในยุโรปมีการยกระดับการเตือนภัยแล้ว โดยเฉพาะที่โปรตุเกสหน่วยควบคุมโรคของยุโรปได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องระมัดระวัง แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังไม่ได้ยกระดับให้ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์น่ากังวลใจ
ที่น่ากังวล คือ ผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า BA.4 และBA.5 เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ซึ่งต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1และ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ปอด
ทั้งนี้ เป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ยังต้องติดตามข้อมูล แต่ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่า เริ่มกลับมาระบาดแล้วในยุโรปและแอฟริกาใต้ แต่จะรุนแรงหรือไม่ ยังต้องรอประเมินหน้างานจากผู้ป่วยที่เข้ารพ.
สำหรับประเทศไทย จากฐานข้อมูล GISAID ที่สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ร่วมถอดรหัสพันธุกรรมและบันทึกข้อมูลเข้าไป พบ มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 จำนวน 26 คน BA.4 จำนวน 23 คน และ BA.2.12.1 จำนวน 18 คน โดยพบตั้งแต่เดือนเม.ย.65 จนถึงปัจจุบัน
จำนวนดังกล่าวเป็นการสุ่มตรวจ แต่โดยข้อเท็จจริงมีจำนวนมากกว่าแน่นอน แต่จะมีอาการรุนแรงมากน้อยหรือไม่ อย่างไร จากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มจำนวนมาก คงต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิดกันต่อไป
ทั้งนี้ ในรายที่พบ คาดว่า น่าจะเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากที่ศูนย์จีโนมฯ ที่ทำการถอดรหัสในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังไม่พบสายพันธุ์ BA.5 และ BA.4 ข้อมูลในรายที่พบและรายงานใน GISAID น่าจะเป็นการสุ่มตรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับฐานข้อมูล GISAID มีรายงานสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยช่วง 60 วันที่ผ่านมามี ดังนี้
หากเป็นข้อมูลสายพันธุ์ทั่วโลกที่พบโดยเฉลี่ยมี ดังนี้
ถามว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงจะเกิดคลื่นระบาดระลอกใหม่หรือไม่นั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ตอบลำบาก เพียงบอกได้จากข้อมูลที่ WHO เคยบอกไว้ว่า
โอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่จะระบาด เป็นข้อเท็จจริงที่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจึงยังต้องระมัดระวัง ทำนายไม่ได้แน่ชัดว่า ตัวใหม่จะมีอาการรุนแรงหรือลดน้อยถอยลง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่สามารถฟันธงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เรียนรู้ มีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก
สำหรับประเทศไทยที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้มีข้อห้ามมากมายเช่นที่ผ่านมา
ประชาชนก็ต้องพิจารณาตนเองว่า จะต้องป้องกันตนเอง ต้องดูแลตนเองอย่างไร โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในที่มีคนแออัด ชุมชน มีความใกล้ชิดกัน ก็ยังควรจะสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงมาตรการวัคซีนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะรับตามเกณฑ์กำหนด