เปิด 5 เขต กทม.นำร่องแซนด์บ็อกซ์ อัพเกรดบริการสาธารณสุขครบวงจร

05 ก.ค. 2565 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 13:34 น.

กทม. ลุยนำร่องแซนด์บ็อกซ์ 5 เขต ยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมืองครบวงจร เชื่อมบริการปฐมภูมิไร้รอยต่อผ่านระบบดิจิทัล

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Sandbox Area โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และพื้นที่ 5 เขต (ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน) ว่า  สำหรับโมเดลแซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนำมาถอดบทเรียนและอุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ คือการใช้ระบบปฐมภูมิที่เป็นสถานรักษาพยาบาลและสาธารณสุขเบื้องต้น เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ จึงต้องมีการออกแบบระบบและกลไกขึ้นมาใหม่

 

เปิด 5 เขต กทม.นำร่องแซนด์บ็อกซ์ อัพเกรดบริการสาธารณสุขครบวงจร

หากสำเร็จจะไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะโควิด-19 เท่านั้น แต่จะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ดีอีกด้วย โดยการทำให้สถานรักษาพยาบาลและสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนและในอนาคตอาจรวมถึงร้านขายยา ที่สามารถมีเภสัชกรปรึกษาอาการเบื้องต้น ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงรับบริการรักษาพยาบาลใกล้บ้านได้ ซึ่งหากพัฒนาให้มีมาตรฐานโดยใช้ระบบและกลไกต่าง ๆ จนเป็นที่ไว้ใจของประชาชนได้ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้ ประชาชนในทุกชุมชนจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้สุขภาพชุมชนดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของระบบนี้ 

นอกจากนี้แซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นมาจากการถอดบทเรียนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติต่าง ๆ เช่น คนล้นเตียงโรงพยาบาล การไม่ได้รับการประสานงานเมื่อเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ แต่จุดประสงค์ที่แท้จริง คือการสถาปนาให้ระบบปฐมภูมิแข็งแกร่ง แข็งแรง เสมือน 1 โรงพยาบาลใกล้บ้าน และเป็นการการันตีว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะมีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยแน่นอน เพื่อแก้ปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ที่ผ่านมา 

เปิด 5 เขต กทม.นำร่องแซนด์บ็อกซ์ อัพเกรดบริการสาธารณสุขครบวงจร

 

 

“หาก Sandbox Area ประสบความสำเร็จ ประชาชนจะมีความมั่นใจในระบบปฐมภูมิว่าบางโรคสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษา มีเภสัชกรจ่ายยาผ่านระบบ Telemedicine มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบกลไก ผ่านระบบดิจิทัลที่ออกแบบไว้ เพื่อแก้ปัญหาคนที่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาล แก้ปัญหาคนล้นโรงพยาบาล ตามวัตถุประสงค์ของ Sandbox Area อย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถแก้ไขวิกฤติโรคระบาดได้ในอนาคต" 

 

เปิด 5 เขต กทม.นำร่องแซนด์บ็อกซ์ อัพเกรดบริการสาธารณสุขครบวงจร

ทั้งนี้แซนด์บ็อกซ์ ราชพิพัฒน์ โมเดลมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข การจัดบริการปฐมภูมิ การส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการ การส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ คือ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ (Sandbox area base) ให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ