กางแผนกทม. เตรียมความพร้อมรับมือ "ฝนหนัก-หนักมาก" แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง

11 ก.ค. 2565 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2565 | 01:35 น.

กทม. เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากไปจนถึง 14 ก.ค.นี้ มีมาตรการอะไรบ้าง ที่นอกเหนือไปจากการเตรียมพร้อมระบบตรวจวัดระดับน้ำ ขุดลอกคูคลอง-ท่อระบายน้ำ กำจัดขยะปิดทางน้ำไหล เตรียมพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ-สถานีสูบน้ำ และการจัดตั้งทีมช่วยเหลือฉุกเฉิน

แผนกทม. รับมือฤดูฝน นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประกาศวานนี้ (11 ก.ค.) ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เตรียมความพร้อมรับมือตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง " ฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทยและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 9-14 ก.ค.65)" โดยได้ประสานความร่วมมือกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อตรวจและติดตามกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของกรุงเทพมหานครตลอด 24 ชั่วโมง

ณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร

พร้อมกันนี้ กทม.ยังมี ระบบโทรมาตรตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด  8 แห่ง  ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลอง 255 แห่ง ข้อมูลดังกล่าวจะเป็น RealTime ซึ่งประชาชนสามารถรับทราบผ่านช่องทางต่างๆได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/ ,www.prbangkok.com ,Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และ รับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1555 หรือ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.022485115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มายังสำนักการระบายน้ำ

 

เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยง

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก ได้ทำการ เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆให้อยู่ในระดับต่ำ  สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย  ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตกเพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง  ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง  บ่อสูบน้ำ 316 แห่งให้พร้อมใช้งานทุกสถานี  จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่(โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร  คลองบางนา คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งติดตั้งแล้ว 12 จุด จำนวน 38 เครื่อง จัด เจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน(BEST) พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อเข้าแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมงรวมถึงการเข้าพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน

กทม.ยังได้จัดเตรียมรถยก และรถชานเลื่อนไว้ กรณีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ที่ดับหรือเสียในถนนที่น้ำท่วม

นอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดเตรียมรถยก และรถชานเลื่อนไว้ กรณีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ที่ดับหรือเสียอยู่บนท้องถนนบริเวณที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งประจำอยู่ ณ ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนฯ 1 พื้นที่เขตดินแดง และศูนย์เครื่องมือกล ส่วนฯ 2 พื้นที่เขตหนองแขม เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมทั้ง ประสานการไฟฟ้านครหลวงกรณีฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ และประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. เช่น โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

 

สุดท้าย ยังได้มี การประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณ “เขตรอยต่อ” ระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีเทศบาลนครนนทบุรี  กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ ร่วมประสานงาน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรต่อไป