เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่วัดมิ่งเมือง ในเขตเทศบาลนครเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจำลอง ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกไม้ ที่ตกแต่งลวดลายวิจิตรงดงามตามศิลปะล้านนา
จากนั้นตั้งแต่ช่วงเวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ได้มีขบวนแห่รถบุษบก โดยมีพระสงฆ์ออกบิณฑบาตตามหลัง ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้นำพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ร่วมกันตักบาตรปัจจัยไทยธรรมและข้าวสาร ถวายแด่พระสงฆ์ โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนนับหมื่นคนเข้าแถวรอตักบาตร เป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณหน้าวัดมิ่งเมืองต่อเนื่องไปตามถนนบรรพปราการ
ผ่านวงเวียนหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ผลงานการออกแบบของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ที่กลายมาเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงรายในปัจจุบัน และยังต่อเนื่องไปจนถึงไปจนถึงบริเวณประตูสรี หรือสี่แยกคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย
ซึ่งการจัดพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดบริเวณนี้ของเทศบาลนครเชียงราย ทุกครั้งจะมีผู้คนร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น
คำว่าเป็งปุ๊ดเป็นภาษาล้านนา "เป็ง"หมายถึงเพ็ญ หรือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ ส่วน"ปุ๊ด"หมายถึงวันพุธ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนเป็งปุ๊ดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอาประเพณีดังกล่าวนี้มาจากประเทศเมียนมา
จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าพระอุปคุต ซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปี จะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ
ชาวเมียนมามักตื่นแต่ดึกเพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อในทำนองว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ในประเทศไทยการใส่บาตรเที่ยงคืน ชาวเหนือเชื่อกันว่า พระอุปคุตจะแปลงกายเป็นสามเณรออกมาโปรดสัตว์ ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้ว บุคคลนั้นจะประสบแต่ความสุข ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เนื่องจากได้อานิสงส์แรง ชาวเหนือเป็นจำนวนมากจึงรอคอยเพื่อที่จะร่วมตักบาตรกันมากเป็นพิเศษในประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด
อย่างไรก็ตาม"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบปฏิทินในปี 2565 พบว่าวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธนั้นไม่มีแล้วและจากการตรวจสอบปฏิทินปี 2566 พบว่า วันเพ็ญขึ้น 15 ที่ตรงกับวันพุธมี ด้วยกัน 2 วันคือวันที่ 5 เมษายน 2566และวันที่ 27 ธันวาคม 2566
เพราะฉะนั้นหากนักท่องเที่ยวต้องการไปท่องเที่ยว และถือโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตรเที่ยงคืน หรือตักบาตรเป็งปุ๊ดที่จังหวัดเชียงรายกัน นักท่องเที่ยวจะต้องไปค้างคืนที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 4 เมษายน 2566 และวันที่ 26 ธันวาคม 2566
เริ่มเลย...วางแผนเดินทางกันแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้มี“ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่จะได้ตักบาตรเป็งปุ๊ดหรือตักบาตรเที่ยงคืนที่จังหวัดเชียงราย
ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน