พืชชนิดใหม่ของโลก "ม่วงราชสิริน-ซ่อนแก้ว" ค้นพบที่จังหวัดไหน คลิกที่นี่

15 ก.ค. 2565 | 01:00 น.

พืชชนิดใหม่ของโลก "ม่วงราชสิริน-ซ่อนแก้ว" ที่ถูกค้นพบในไทยล่าสุด 2 ชนิด ค้นพบที่จังหวัดไหน มีลักษณะอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่  

จากกรณีการประกาศค้นพบ "ม่วงราชสิริน" (นามพระราชทาน) และ "ซ่อนแก้ว" พืชชนิดใหม่ของโลก โดยนักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของไทย ตอกย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายทางพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างดีเยี่ยม โดย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยข่าวดีว่า ไทยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด คือ ม่วงราชสิริน (นามพระราชทาน) ที่จังหวัดราชบุรี และ ซ่อนแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเชียงราย

 

สำหรับ "ม่วงราชสิริน" เป็นนามพระราชทาน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

 

มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee คำระบุชนิด "sirindhorniana"

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ "ม่วงราชสิริน"

  • เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง
  • กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม เกลี้ยงเมื่อแก่
  • ส่วนช่อดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โดดเด่นด้วยดอกสีม่วง มีเส้นสีม่วงแดงเข้มตามยาว

 

ส่วน "ซ่อนแก้ว" พืชชนิดใหม่อีกหนึ่งชนิดที่ถูกค้นพบที่ จ.เพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่ จ.เชียงราย บริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana" คำระบุชนิด "tomentosa"

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ "ซ่อนแก้ว"

  • เป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย
  • กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
  • ส่วนช่อดอกออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีดอกสีขาวถึงชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย 

ทั้งนี้ มีรายงานเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ว่า นักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทย

 

ได้ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก "ม่วงราชสิริน" โดยการสนับสนุนการสำรวจในภาคสนามจากสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานฯ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

 

ม่วงราชสิริน (นามพระราชทาน) บริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

สำหรับพืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบโดย ทีมงานนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ระหว่างทำการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งได้พบ ไม้เถาเนื้อแข็งไม่ทราบชนิดซึ่งมีเฉพาะผล จึงได้ติดตามเก็บตัวอย่างและได้ตัวอย่างดอกในเดือนเมษายน 2564 ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่าง พบเพิ่มเติมบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลกระพี้จั่น (Millettia) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์ดังกล่าว โดย กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ขอพระราชทานนาม ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ขอพระราชทานนามว่า Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee คำระบุชนิด "sirindhorniana" ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

โดยพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปร่วมรับเสด็จ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มเติมอีกจำนวน 3 ลุ่มน้ำ จากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 1 ลุ่มน้ำ พืชชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยซึ่งเป็นนามพระราชทานว่า "ม่วงราชสิริน" ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

"ม่วงราชสิริน" (นามพระราชทาน) ค้นพบบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

 

ทั้งยังมีรายงานด้วยว่า ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทยซึ่งร่วมกับนักพฤกษศาสตร์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนางสาวนัยนา เทศนา หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกอีกชนิด คือ "ซ่อนแก้ว" 

 

ค้นพบที่จ.เพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่จ.เชียงราย บริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย

 

"ซ่อนแก้ว" ถูกค้นพบที่จ.เพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่จ.เชียงราย

พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana" คำระบุชนิด "tomentosa" ซึ่งตั้งตามลักษณะขนที่หนาแน่นบริเวณรังไข่และผล ส่วนชื่อไทย "ซ่อนแก้ว" ตั้งตามชื่อแหล่งเก็บตัวอย่างต้นแบบ ที่วัดผาซ่อนแก้ว ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้


โดยผู้วิจัยได้ตรวจสอบชนิดที่มีการรายงานในภูมิภาคเอเชียและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ชนิดนี้ยังไม่มีการให้ชื่อพฤกษศาสตร์ การพบพืชชนิดนี้ครั้งแรกเป็นตัวอย่างเพียงแค่ฝัก ต่อมามีการตามเก็บตัวอย่างดอกเพื่อยืนยันชนิดที่ถูกต้องโดยใช้เวลา 8 ปี จนในที่สุดจึงได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ ได้แก่ ใบ ฝัก ดอก ผล และเมล็ด นำมาซึ่งการตรวจสอบและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ประเทศไทยนับว่า พืชสกุลกระพี้จั่นมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบจำนวนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในสมัยอดีตยังไม่มีการศึกษารายละเอียดมากนัก และอาจเนื่องจากพืชสกุลนี้เป็นสกุลที่ยากต่อการศึกษา

 

"ซ่อนแก้ว" ที่ค้นพบในจ.เพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่จ.เชียงราย

 

ทั้งนี้ สำหรับ "ม่วงราชสิริน" (Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee) และ "ซ่อนแก้ว" (Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana) ถือเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่นักพฤกษศาสตร์ของไทยได้ค้นพบซึ่งทั้ง 2 ชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน คือ สกุลกระพี้จั่น (Millettia) จากประเทศไทยโดยได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50(2) หน้าที่ : 89-99 ปี พ.ศ. 2565  https://li01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiForestBulletin/issue/current

 

ที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช