เปิดกฎหมายแรงงาน ค่าชดเชย เมื่อ 'เกษียณ-เลิกจ้าง'

15 ก.ค. 2565 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 10:49 น.

เปิดกฎหมายแรงงาน เกี่ยวกับ ค่าชดเชย เมื่อเราต้อง เกษียณ หรือ ถูกเลิกจ้าง สูตรคำนวณ ระยะเวลาทำงาน หารรายวัน คูณ กับ อัตราการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

15 กรกฎาคม 2565 - แม้ปัจจุบัน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ช่วงอายุ เกษียณ จากการทำงาน ควรอยู่ที่ 55 ปี หรือ 60 ปี ถึงจะเหมาะสม ขณะเดียวกัน ข่าวการถูก บริษัทเลิกจ้าง ก็มีให้เห็นบ่อยขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ทั้งนี้ สิ่งที่เราควรรู้ คือ เมื่อต้องเกษียณ หรือ ถูกเลิกจ้าง จะได้รับค่าชดเชยกี่บาท 

 

ล่าสุด เพจกฎหมายแรงงาน ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานในแง่ต่างๆ ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับ "ค่าชดเชย" เมื่อเกษียณ  หรือ เมื่อ เลิกจ้าง ซึ่ง 'ฐานเศรษฐกิจ' เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงหยิบยกมานำเสนอต่อดังนี้ 
 

โดยอัตราค่าชดเชยแรงงานนั้น จะขึ้นอยู่กับว่า ทำงานมานานแค่ไหน และอัตราค่าจ้างที่หารเป็นวันออกมาแล้ว ได้เป็นค่าจ้างกี่บาทต่อวัน จากนั้น ก็นำมาคูณกับอัตราการจ่ายค่าชดเชย ตามรายละเอียด ด้านล่าง 

 

อัตราการจ่ายค่าชดเชย  (เมื่อเลิกจ้าง) คิดดังนี้

  • ทำงานครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายค่าชดเชย 30 วัน
  • ทำงานครบ 1ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายค่าชดเชย 90 วัน
  • ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายค่าชดเชย 180วัน 
  • ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10ปี จ่ายค่าชดเชย 240วัน
  • ทำงานครบ 10 ปีแต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายค่าชดเชย 300 วัน
  • ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จ่ายค่าชดเชย 400 วัน

เปิดกฎหมายแรงงาน  ค่าชดเชย เมื่อ \'เกษียณ-เลิกจ้าง\'

การนับระยะเวลา

การนับระยะเวลาทำงานให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง หรือเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างต้องนับเวลาเข้าร่วมเป็นเวลาทำงานด้วย 

 

การนับระยะเวลา มาตรา 19 บัญญัติว่า

 

"เพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย"

 

ทั้งนี้ เมื่อเกษียณเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะค่าชดเชยคือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง(มาตรา 5) 

สำหรับการเกษียณกฎหมายกำหนดไว้มี 2 กรณี คือ

  • เกษียณตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้
  • กรณีมิได้มีการตกลง หรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี พออายุครบ ๖๐ ปีลูกจ้างก็ขอเกษียณอายุได้ โดยแจ้งให้นายจ้างทราบก่อนเกษียณ ๓๐ วัน 

 

จากคำถามถือว่าเป็นการเกษียณตามกรณีที่ 1) เพราะมีข้อตกลง หรือสัญญา หรือนายจ้างทำเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือประกาศเอาไว้ ซึ่งตามกฎหมายเรียกข้อตกลงนี้ว่า "สภาพการจ้าง"

 

เมื่อเป็น "สภาพการจ้าง" ก็มีหลักว่าหากจะเปลี่ยนสภาพการจ้างสามารถทำได้ แต่ต้องทำด้วยวิธีดังนี้

  1. ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายลูกจ้าง เจรจาต่อรอง ไกล่เกลี่ย และระงับข้อพิพาท ถ้าระงับไม่ได้ก็อาจมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน ซึ่งวิธีนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ (มาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๓๐)
  2. ทำข้อตกลงขอเปลี่ยนสภาพการจ้างกับลูกจ้าง จากคำถามคาดว่านายจ้างจะเปลี่ยนสภาพการจ้างไปฝ่ายเดียว ซึ่งการเปลี่ยนภาพการจ้างที่ "ไม่เป็นคุณแก่ฝ่ายลูกจ้าง" ทำโดยพลการฝ่ายเดียวไม่ได้
  3. เปลียนโดยปริยาย หมายความว่าหากนายจ้างเปลี่ยนข้อกำหนดการเกษียณจากเดิม ๕๘ ปี มาเป็น ๖๐ ปี และใช้ไปสักพัก เช่น ๖ เดือน โดยฝ่ายลูกจ้างไม่โต้แย้งหรือนิ่ง ตามกฎหมายถือว่ายอมรับสภาพการจ้าง สภาพการจ้างจึงเปลี่ยนโดยปริยาย

 

ที่มา : เพจกฎหมายแรงงาน