ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ประชาชนเข้าใจประเด็นหาร 100 หรือหาร 500 หรือไม่” ระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเข้าใจต่อร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 100 หรือ หาร 500
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.35% ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 100 หรือหาร 500 และกลุ่มตัวอย่างอีก 21.11% ยังไม่ค่อยเข้าใจ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่าง 11.74% ค่อนข้างเข้าใจ และกลุ่มตัวอย่างอีก 4.80% เข้าใจมาก
โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความเข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ (จำนวน 217 ราย) เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อมติที่ประชุมรัฐสภาในการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 500 นั้น กลุ่มตัวอย่าง 36.41% ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา 30.41% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 16.59% เห็นด้วยมาก และไม่ค่อยเห็นด้วย ในสัดส่วนที่เท่ากัน
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติในการใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 500 พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ (จำนวน 217 ราย) 28.11% ระบุว่า ต้องการให้ทุกคะแนนที่ประชาชนไปใช้สิทธิมีความหมาย
รองลงมา 23.96% ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันต้องการคงอยู่ต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ตามด้วย 20.28% ระบุว่า ต้องการให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส.ในสภา, 17.97% ระบุว่า ต้องการป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และ 9.68% ระบุว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกับการโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการอภิปายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการมี ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 58.39% ระบุว่า ควรมีทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองลงมา 33.38% ระบุว่า ควรมีแต่ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ 8.23% ระบุว่า ควรมีแต่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประชาชนเข้าใจประเด็นหาร 100 หรือหาร 500 หรือไม่" ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ค.65 จากการสุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง