กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 21-25 ก.ค.

19 ก.ค. 2565 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2565 | 16:57 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน วันที่ 21-25 ก.ค.นี้ ตรวจสอบรายชื่ออำเภอ-จังหวัดได้ที่นี่

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  ออกประกาศฉบับที่ 21/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน

 

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ในช่วงวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

 

จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 21-25 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง

 

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว)
  • จังหวัดเชียงราย (อำเภอเวียงป่าเป้า)
  • จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ เชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ)
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอบ้านโคก)
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และชาติตระการ)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอน้ำหนาว เมืองเพชรบูรณ์ และหนองไผ่)
  • จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอหนองฉาง)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย ด่านซ้าย และท่าลี่)
  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอโพนพิสัย และรัตนวาปี)
  • จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง)
  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ โซ่พิสัย เซกา ปากคาด บึงโขงหลง ศรีวิไล และบุ่งคล้า)
  • จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอบ้านเขว้า และหนองบัวแดง)
  • จังหวัดขอนแก่น(อำเภอภูเวียง ภูผาม่าน เวียงเก่า และหนองนาคำ)
  • จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และยางตลาด)
  • จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเสิงสาง จักราช พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง หนองบุญมาก และลำทะเมนชัย)
  • จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง ละหานทราย ประโคนชัย เฉลิมพระเกียรติ โนนดินแดง โนนสุวรรณ และลำปลายมาศ)
  • จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอปราสาท และกาบเชิง)

 

ภาคตะวันออก

  • จังหวัดสระแก้ว (อำเภอตาพระยา)
  • จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด เกาะช้าง และเขาสมิง)

 

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด

 

3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย บึงกาฬ ขอนแก่น และนครราชสีมา) ภาคตะวันออก (จังหวัดสระแก้ว และตราด)

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำและติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 21-25 ก.ค. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 21-25 ก.ค.