'โรคฝีดาษลิง' โรคระบาดใหม่ ที่ไม่ควรมองข้าม แต่ป้องกันได้!

24 ก.ค. 2565 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2565 | 14:03 น.

ทำความรู้จัก 'โรคฝีดาษลิง' หลังพบการแพร่ระบาดแล้วใน 72 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย แล้วรู้หรือไม่ โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ กับ โรคฝีดาษลิง ต่างกันอย่างไร และรวบรวมอาการที่ควรสังเกต

24 กรกฎาคม 2565 - คำว่า 'โรคฝีดาษลิง' กลับมาถูกค้นหาในเชิง ความหมาย และ อาการของโรคอย่างคึกคักอีกครั้ง หลังปรากฎข่าว หนุ่มไนจีเรีย ป่วย 'ฝีดาษลิง' หนีข้ามพรมแดนไปกัมพูชา อีกทั้งล่าสุด WHO ประกาศให้โรคดังกล่าว เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก โดยสาธารณสุขไทย ยังสั่งให้ยกระดับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในประเทศไทยอีกด้วย

 

ทำให้หลายคนสงสัย ว่า โรคฝีดาษลิง มีอาการ และ อันตรายแค่ไหน รวมถึง มีความต่างกับโรคที่มีชื่อใกล้เคียงกัน อย่าง โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ ของไทยในอดีตอย่างไร ? เพื่อเตรียมพร้อม ป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิครินทร์ ได้เผยแพร่ข้อความให้ความรู้ เกี่ยวกับการ เตรียมพร้อมรับมือและป้องกัน #โรคฝีดาษลิง ไว้น่าสนใจ ดังนี้ 

 

ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร?

แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์  ระบุว่า โรคไข้ฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”

 

โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1-10% ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ

  • สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
  • สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%

“ฝีดาษลิง” แตกต่างจาก “ไข้ฝีดาษ-ไข้ทรพิษ” อย่างไร?

\'โรคฝีดาษลิง\' โรคระบาดใหม่ ที่ไม่ควรมองข้าม แต่ป้องกันได้!

โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) จัดเป็นกลุ่มโรคไข้ออกผื่น กินระยะเวลานาน 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับไข้ฝีดาษลิง แม้ว่าจะเป็นไวรัส Othopoxvirusกลุ่มเดียวกัน แต่จัดเป็นคนละชนิดกัน โดยลักษณะการติดต่อและความรุนแรงของโรคพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

เชื้อไวรัสของโรคไข้ทรพิษจะอยู่ในคนเป็นหลัก โดยจะมีการติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น โดยติดต่อผ่านการหายใจ สามารถติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านละอองฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างเป็นวงกว้าง โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% แตกต่างจากไข้ฝีดาษลิง ที่ติดต่อกันผ่านการสัมผัส (Contact)

 

มีหลักฐานยืนยันว่า โรคไข้ทรพิษเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดมาอย่างยาวนานมากกว่า 1,000 ปี แต่ปัจจุบันนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2023 เป็นต้นมา เนื่องมาจากการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ โดยประเทศไทยได้ยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการเก็บตัวอย่างเชื้อไข้ทรพิษ ไว้สำหรับเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น

 

โรคฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ ที่ไม่ควรมองข้าม!

สถานการณ์โรคไข้ฝีดาษลิง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 500 ราย ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 เป็นผู้ชาย ซึ่งมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมา โดยติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

 

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า เราพบการแพร่ระบาดของโลกฝีดาษลิงในทวีปแอฟริกาเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีแพรี่ด็อก (Prairie Dog) สัตว์นำเข้าจากประเทศคองโกเป็นพาหะในการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง และโรคได้สงบไปจากการแพร่ระบาดในครั้งนั้น และไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาอีก

 

สิ่งที่ต้องจับตามองอีกครั้ง! มีการพบผู้ติดเชื้อโรคไข้ฝีดาษลิงขึ้นอีกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 เป็นรายแรก และพบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกถึง 72 ประเทศ (CDC, Jul 2022)


อาการโรคฝีดาษลิง เป็นอย่างไร?

ระยะเวลาฟักตัวของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 7-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแสดงต่างๆ ดังนี้

  • มีไข้ ไข้สูง
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ปวดกระบอกตา
  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย

 

อาการต่อมน้ำเหลืองโต ถือเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ของโรคไข้ฝีดาษลิง สามารถเกิดขึ้นได้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่ไปสัมผัสโรคตามผิวหนัง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ เป็นต้น หรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคไข้สุกใส (Chickenpox) ที่เป็นไข้ออกผื่นลักษณะเดียวกัน

  • มีผื่น ตุ่มหนอง

หลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3 วัน จะเข้าสู่ช่วงระยะออกผื่น โดยลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินเวลานานประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว

\'โรคฝีดาษลิง\' โรคระบาดใหม่ ที่ไม่ควรมองข้าม แต่ป้องกันได้!

โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดงๆ กลมๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และ กลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ดจะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้

 

จะแพร่ระบาดเหมือน Covid-19 ไหม? 

สำหรับใครที่กังวลและสงสัยว่า โรคไข้ฝีดาษลิง นี้ จะกลายเป็นโรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลก (Pandemic) เหมือนกับ Covid-19 ไหม? โอกาสในกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้นมีได้น้อยกว่า เพราะลักษณะในการแพร่เชื้อจะผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ในแง่ของการควบคุมโรคนั้น หากเชื้อมีการแพร่ระบาดจากคนไปสู่สัตว์ จะทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสนี้อยู่แล้ว โดย ณ ข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่พบรายงานว่า มีเชื้อไวรัสในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ (เช่น กระรอก หนู กระแต) ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

 

วิธีป้องกัน “โรคฝีดาษลิง”

  • ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
  • ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
  • เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อที่มีโปรตีนหุ้ม ซึ่งสามารถถูกทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
  • สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้  การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัย สามารถช่วยป้องกันได้ทั้ง 3 โรค ได้แก่ โรคฝีดาษลิง โรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่

 

ที่มา : รพ.ศิครินทร์