เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 7-9 ส.ค. เตือน ปชช.ริมเขื่อนเจ้าพระยา

07 ส.ค. 2565 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2565 | 14:34 น.

มหาดไทย กำชับผู้ว่าฯ – ปภ. ทั่วประเทศ ทั้ง ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใด้ เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน - น้ำป่าไหลหลาก – คลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคม นี้ พร้อมขอประชาชน เฝ้าระวังน้ำเหนือพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

7 ส.ค. 2565- จากกรณี กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศสภาพอากาศล่าสุด โดยระบุ ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น 

 

7-9 สิงหาคม ฝนตกหนักทุกภาค

จะส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ บริเวณทะเลอันดามันตอนบน คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 

เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 7-9 ส.ค.  เตือน ปชช.ริมเขื่อนเจ้าพระยา

มหาดไทย แบ่งพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 

ล่าสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฯ ในห้วงระหว่างวันที่ 7 - 9 ส.ค. 65 แบ่งเป็น 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ

  • จ.แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ)
  • จ.เชียงใหม่ (ทุกอำเภอ)
  • จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงป่าเป้า แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย)
  • จ.ลำปาง (อ.เถิน เสริมงาม วังเหนือ งาว ห้างฉัตร)
  • จ.น่าน (อ.เชียงกลาง ปัว ทุ่งช้าง ท่าวังผา)
  • จ.อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด)
  • จ.สุโขทัย (อ.ทุ่งเสลี่ยม เมืองฯ บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย คีรีมาศ)
  • จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง)
  • จ.กำแพงเพชร (อ.คลองลาน โกสัมพีนคร)
  • จ.พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์)
  • จ.เพชรบูรณ์ (อ.วังโป่ง ชนแดน หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ)
  • จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • จ.เลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่) จ.อุดรธานี (อ.กุดจับ)
  • จ.ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ เทพสถิต บ้านเขว้า หนองบัวระเหว)
  • จ.นครราชสีมา (อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว สีคิ้ว ปักธงชัย ด่านขุนทด พิมาย)
  • จ.บุรีรัมย์ (อ.เฉลิมพระเกียรติ นางรอง สตึก คูเมือง)
  • จ.สุรินทร์ (อ.ปราสาท พนมดงรัก) ศรีสะเกษ (อ.ภูสิงห์ ขุนหาญ)
  • จ.อุบลราชธานี (อ.บุณฑริก น้ำยืน นาจะหลวย น้ำขุ่น)

 

ภาคกลาง

  • จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี)
  • จ.ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา)
  • จ.ลพบุรี (อ.ชัยบาดาล ลำสนธิ) จ.นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี)
  • จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี)
  • จ.สระแก้ว (อ.เมืองฯ วังน้ำเย็น ตาพระยา)
  • จ.ระยอง (อ.เมืองฯ เขาชะเมา แกลง บ้านค่าย)
  • จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง)
  • จ.ตราด (อ.บ่อไร่ เขาสมิง คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด แหลมงอบ)
  • จ.เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง) 
     

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง

ภาคใต้

  • จ.ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) 
  • จ.พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
  • จ.ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง) 


“เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งลดผลกระทบจากสถานการณ์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ กำลังพล ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือสถานการณ์ขยายวงกว้าง ให้มอบหมายบุคลากร ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และประสานด้านข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง”


น้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา เตือนประชาชน ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในห้วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนถึงประมาณกลางเดือน ส.ค. 65 

 

กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร 

 

รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 65 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง