จากกรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดที่จะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในเดือนกันยายนนี้ พิจารณาขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. เฉพาะบางพื้นที่ (โซนนิ่ง) ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพฯ พัทยา กระบี่ ภูเก็ต หัวหิน สมุย และเชียงใหม่ ให้มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) โดยระบุว่า เป็นเรื่องของการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ผศ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ ไชยสงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รองผู้จัดการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจำกัดวันและเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นมาตรการที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในหลายประเทศก็มีการกำหนดช่วงเวลาในการขายและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้อย่างชัดเจน อาทิ การไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางวันของสัปดาห์หรือวันที่กำหนดให้เป็นวันหยุด การไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงดึกหรือหลังเที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาในการพักผ่อนนอนหลับ และเพื่อป้องกันและลดปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ดื่มแล้วขับ อุบัติเหตุและปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบมีการที่นั่งดื่ม โดยเฉพาะช่วงเวลากลางดึก ในสถานบันเทิงกลุ่มไนท์คลับ ผับ บาร์ และสถานบริการอื่น ๆ
ทั้งนี้ จากรายงานในหลายประเทศพบว่า การกำหนดวันและเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการดื่มแอลกอฮอล์และปัญหาที่ตามมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำกัดเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงกลางดึก เช่น การจำกัดเวลาขายช่วงกลางคืนในประเทศรัสเซียมีผลทำให้การดื่มลดลง การจำกัดเวลาขายในร้านขายปลีกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมนีทำให้อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากปัญหาแอลกอฮอล์ลดลง และการจำกัดเวลาขายในประเทศลิธูเนียมีผลช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุรถชนและการบาดเจ็บที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์
ในทางกลับกัน การเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ปัญหาจากแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น อาทิ การทำร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ การดื่มแล้วขับ ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลียการขยายเวลาขาย ทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุรถชนเพิ่มมากขึ้น ในประเทศไอซ์แลนด์การเพิ่มเวลาขาย ทำให้มีอัตราการเข้าห้องฉุกเฉิน การบาดเจ็บ การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย และการขับขี่ขณะมึนเมาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้รายงานล่าสุดในประเทศนอร์เวย์ พบว่าการเพิ่มชั่วโมงขายแอลกอฮอล์พียง 1 ชั่วโมง ทำให้ปัญหาการทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 16
“จากข้อมูลวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายประเทศยืนยันชัดเจนว่า มาตรการจำกัดวันและเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในทางกลับกันการเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงกลางดึกหรือหลังเที่ยงคืน จะก่อให้เกิดปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์และส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ดื่มและผู้อื่น ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการขยายเวลาในการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4” ผศ.ดร.ภก.สุรศักดิ์ กล่าว.