มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 40 ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและมอบโล่ให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และผู้ที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงานแถลงข่าว
ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ ถือเป็น เครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาประเทศ และหากมองสถานะของประเทศไทยในเวทีโลก จะช่วยให้เราทราบว่ามีสิ่งใดที่เราควรทำเพื่อขยับสถานะของประเทศให้สูงขึ้น โดย IMD World Competitiveness Center ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ใน 63 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2565
พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ขยับลงมา 5 อันดับจากปี 2564 ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 38 เท่าเดิม และการศึกษาอยู่อันดับที่ 53 ดีขึ้น 3 อันดับ เมื่อมองไปที่วิทยาศาสตร์แล้วพิจารณาเฉพาะงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality & High Impact)
นอกจากนี้ จากการจัดอันดับของ Nature Index ยังพบว่าขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จาก 115 ประเทศที่มีผลงานวิจัยกลุ่มดีเด่นและเป็นอันดับที่ 9 ในเขต Asia Pacific จำนวน 28 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่มสมาชิก ASEAN 10 ประเทศนั้นพบว่า อันดับที่ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย
“สำหรับงานวิจัยนั้น เราต้องมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันในด้านต่าง ๆ อาทิ Energy and Environment, Biotechnologies, Advanced Functional Materials, และ Advanced Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
เราจำเป็นต้องสร้างนักวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นหัวรถจักรชั้นดีในการขับเคลื่อนประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทุนทางนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เคลื่อนเข้าสู่เวทีโลกอย่างสง่างาม ยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริม
และสร้างองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ให้พร้อมเพรียง ได้แก่ 1. ส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ 2. เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. สนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยขั้นแนวหน้า
และ 4. สนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันกับการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง”
สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.นพ. วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล “ผู้คิดค้นและพัฒนาแนวทางในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์” คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2565 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท
ศ.ดร.นพ.วิปร เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเฉพาะโรคเม็ดเลือดแดงและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มีความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality Research output) อีกทั้งยังมีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (Nationally Important) และเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล (Globally Visible)
ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น โดยพิจารณา ผลงานย้อนหลัง และ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่างานวิจัยได้รับการอ้างอิงมากกว่า 10,000 ครั้ง ในสาขาโลหิตวิทยา ชึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญของสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติและองค์การอนามัยโลก
โดยมีผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การค้นพบโรคทางโลหิตวิทยาชนิดใหม่ในคนไข้ชาวไทย และตั้งชื่อว่าโรคเคแอลเอฟ 1, การค้นพบกลไกการเกิดโรคพันธุกรรมแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ ที่ส่งผลต่อการควบคุมการแสดงออกของยีน, การวิจัยทางคลินิกของผลการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาขับเหล็กที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย, การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกินด้วยการวิเคราะห์ภาพจากเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า,
งานวิจัยเชิงลึกด้านพยาธิสรีรวิทยาของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งในแง่กลไกทางพันธุกรรม อุบัติการณ์ สาเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างต้นแบบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (รถตรวจหาเชื้อโควิด 19) อีกด้วย
สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่
1. ผศ.ดร.กมลวัช งามเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงาน “งานวิจัยขั้นแนวหน้าทางเคมีไฟฟ้าและการประยุกต์ใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าในเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้โรคและสารพิษในสิ่งแวดล้อม”
2. ผศ.ดร.สุรชัย กาญจนาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงาน “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้ในการผลิตไบโอออยล์และสารเคมี”