26 ส.ค.65 เวลา 9.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานภาวะฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ประกอบกับการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2565 โดยตั้งแต่วันที่ 24 - 26 สิงหาคม 2565 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก อุบลราชธานี อุดรธานี เลย จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครนายก และปราจีนบุรี รวม 25 อำเภอ 108 ตำบล 460 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,207 ครัวเรือน
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปราจีนบุรี รวม 12 อำเภอ 76 ตำบล 327 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำลดลง แต่บางพื้นที่ยังทรงตัว แยกเป็น
1. ลำปาง ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเกาะคา รวม 10 ตำบล 53 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
2. อุบลราชธานี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี รวม 1 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
3. พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 62 ตำบล 263 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 7,943 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4. อ่างทอง เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 57 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
5. ปราจีนบุรี เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คายแล้ว อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
ภาพและข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM