เมื่อวันที่ 10 ก.ย.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งแก้ไขปัญหากรณีเด็กนักเรียนถูกทิ้งและติดในรถยนต์ ซึ่งพบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประสานไปยังสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ได้คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ล่าสุด สอศ. แจ้งว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์เพื่อป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ จากสถานศึกษาอาชีวะอย่างน้อยกว่า 30 ผลงาน กระจายอยู่ในสถานศึกษาอาชีวะทุกภูมิภาคทั่วประเทศหลายผลงานเป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการและผู้ใช้งาน เช่น วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผลิตเครื่องแจ้งเตือนเด็กติดในรถ โดยเป็นระบบป้องกันและเตือนภัย มีลักษณะการใช้งานคือ ส่งสัญญาณไซเรน เพื่อให้ผู้คนบริเวณใกล้เคียงสามารถช่วยเหลือได้ และมีความสามารถลดระดับของกระจกรถเพื่อระบายอากาศ นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนผู้ปกครองฝ่ายโทรศัพท์มือถือกรณีพบเด็กติดอยู่ในรถด้วย โดยขณะนี้กำลังพัฒนาการติดตั้งกล้อง 360 องศา ที่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบบุตรหลานจากรถรับส่งนักเรียนได้
ขณะที่ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีสิ่งประดิษฐ์ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ โดยใช้อุปกรณ์ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนในรถยนต์ ซึ่งเครื่องจะทำงานอัตโนมัติเมื่อพบว่ามีผู้ติดอยู่ในรถและมีค่าคาร์บอนมากกว่า 1,000 ppm. ซึ่งเป็นค่าที่ทำให้ผู้ติดอยู่ในรถรู้สึกอึดอัด อีกแห่งคือ วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้ประดิษฐ์เครื่องทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำหรือมีผู้ติดอยู่ในรถ โดยมีความสามารถยิงทำลายกระจกรถยนต์ หากตกน้ำจะมีอุปกรณ์เสริมเพื่อขอความช่วยเหลือและจะมีสัญญาณแสดงตำแหน่งที่รถจมอยู่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ สอศ.ได้ออกหนังสื่อด่วนถึงสถานศึกษาอาชีวะทุกแห่ง ให้มีการสำรวจนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลว่านวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องมีอยู่ในสถานศึกษาใดบ้าง โดยเร็วๆนี้จะมีการประชุมร่วมเพื่อระดมสมอง แชร์ไอเดียจากสถานศึกษาอาชีวะเพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนา ต่อยอด และหาต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง ไว้ใช้งานในระยะยาวต่อไป