"น้ำมันดิบ" แปลงร่างเป็นอะไรได้บ้าง ?

13 ก.ย. 2565 | 10:00 น.

น้ำมันดิบที่ขุดมาจากธรรมชาติ ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เพราะยังไม่ผ่านการกลั่น เพื่อให้ได้น้ำมันที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องนำมาผ่านกระบวนการกลั่น แล้วน้ำมันดิบที่ผ่านการกลั่นแล้ว จะแปลงร่างออกเป็นอะไรได้บ้าง มาดูกัน !

น้ำมันดิบ คือ หนึ่งในผลผลิตที่ได้จากการผลิตปิโตรเลียม มีสถานะเป็นของเหลว ประกอบด้วย สารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่าย แต่น้ำมันดิบที่ขุดมาจากธรรมชาติยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้และมีราคาถูก จึงต้องนำมาเพิ่มคุณค่าให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยต้องนำมาผ่านกระบวนการกลั่น เพื่อแปรรูปน้ำมันดิบให้กลายเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้กันทุกวันนี้

น้ำมันดิบ แปลงร่างเป็นอะไรได้บ้าง ?


กระบวนการกลั่นน้ำมัน คือ การเปลี่ยนสภาพน้ำมันดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ โดยการกลั่นจะแยกโมเลกุลสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมันดิบและแปรสภาพสสาร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงกว่า เมื่อนำน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่นน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นก็จะถูกแยกออกมาเป็นจุดเดือด ดังนี้

  • <65 °C = ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ก๊าซหุงต้ม” นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน เชื้อเพลิงในยานพาหนะ เชื้อเพลิงในครัวเรือน
  • 65 - 200 °C  = แนฟทาหนัก ใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน แนฟทาเบา ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก
  • 150 - 250 °C = น้ำมันก๊าด ใช้สำหรับให้พลังงานความร้อนและแสงสว่าง หรือใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน
  • 250 - 360 °C = น้ำมันดีเซล ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล แบ่งเป็น ดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนช้า
  • >360 °C = ผ่านหม้อกลั่นสุญญากาศ ออกมาเป็น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเตา ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เรือเดินทะเล ยางมะตอย ที่นำมาราดผิวถนน

นอกจากนี้โรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งก็จะออกแบบโรงกลั่นให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้ตรงกับความต้องการของตลาด และตามประเภทของการใช้งานแตกต่างกันไป ซึ่งโดยสรุปแล้ว “น้ำมันดิบ” เมื่อนำมาผ่านกระบวนการกลั่น จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และ ยางมะตอย ฯลฯ