นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนด้วย ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงมีความชัดเจนขึ้น ฝนที่เพิ่มขึ้นก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน สอดคล้องกับในช่วงเดือนที่ผ่านมาฝนตกเพิ่มขึ้น 150 % ในช่วงต้นเดือนแรกของเดือนกันยายน เป็นผลให้เกิดน้ำท่วม
“แผนการรองรับต้องคุยกันในรายละเอียดให้ยาวขึ้นว่าจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร จะวางแผนโครงการอย่างไร ซึ่งอาจารย์เสรีก็ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยในระยะสั้นต้องมีการบัญชาการจากกทม. จัดให้ผอ.เขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นตัวกำกับ จะเห็นภาพรวมของน้ำทั้งหมด การจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งปลัด รองปลัด และสำนักการระบายน้ำ โดยมีผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า ที่อาจารย์เสรีพูดมาเป็นสิ่งที่ดีมากๆ การเอาชุมชนและประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม อย่าให้เขารอให้เราเข้าไปแก้ปัญหาให้ ให้เอาเขามาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหาและเป็นคำตอบให้เราด้วย จริงๆ แล้วเรามีแนวร่วมอีกเป็นแสนเป็นล้านคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น”
ส่วนในระยะยาวจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน จังหวัดต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากพิจารณาจากแผนการระบายน้ำของกทม.ที่ผ่านมา จะระบายน้ำไปในพื้นที่ของกทม. จากคลองแสนแสบมายังประตูระบายน้ำพระโขนง ลาดพร้าวมาออกบางซื่อ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กทม.ทั้งหมด ลาดกระบังมาออกประเวศ ทำให้น้ำมีการไหลผ่านมารวมบริเวณกลางทั้งหมด แต่ในอนาคตหากน้ำทางตอนเหนือที่ ต้องผ่านทางจังหวัดอื่นจะต้องพิจารณาการระบายน้ำในภาพรวม
“แต่ละจังหวัดต้องพูดคุยกัน โดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าแต่ละจังหวัดระบายน้ำเองไม่ได้แน่ ต้องมีการหารือกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับปริมณฑล ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องฝุ่น PM2.5 ก็คล้ายๆกัน ฝุ่นก็ลอยข้ามไปข้ามมา เรื่องมลพิษ เรื่องการจราจร เรื่องที่อยู่อาศัยต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต”
ดร.ธเนศร์ กล่าวว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเห็นว่าการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเขตลาดกระบัง คลองประเวศ คลองแสนแสบ เราได้พยายามที่จะติดตั้งเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในแนวเหนือใต้ให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด