หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานว่าบริษัทวิศวกรรมเครื่องบินชั้นนำของจีนสนใจลงทุนเปิดโรงงงานในอาเซียน ระบุเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับเครื่องบินโบอิ้งทุกรุ่นและมีบริการซ่อมบำรุงเครื่องบินระดับยกเครื่องใหญ่สุดในภูมิภาค
รายงานข่าวระบุว่าบริษัทจีนที่แสดงความสนใจลงทุนสร้างโรงงานในอาเซียนคือบริษัท Taikoo Spirit Aero Systems (Jinjiang) Composite โดยนายซันนี่ เมอร์ชันดานี (Sunny Mirchandani) กรรมการผู้จัดการของบริษัทกล่าวว่าบริษัทสนใจลงทุนในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศใกล้เคียง
เวียงจันทน์ไทม์ส ระบุว่า บริษัท Taikoo Spirit Aero System เป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม HAECO ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงก่อตั้งขึ้นในปี 2493 ทำธุรกิจให้บริการทางด้านวิศวกรรมเครื่องบิน เป็นผู้ให้บริการยกเครื่องและซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของรายหนึ่งของโลกโดยมีบริการครบทุกด้านเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องบิน
ในปัจจุบันกลุ่ม HAECO ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ให้กับโบอิ้งที่ยังมีการผลิตอยู่ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินรุ่น 737 747 767 777 และ 787
นายซันนี่ ได้แถลงให้กับกลุ่มนักข่าวอาเซียนที่เดินทางไปประเทศจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ในโครงการความร่วมมือทางด้านข่าวสาร ว่า “เราตั้งโรงงานของเราในประเทศจีนเพราะประเทศจีนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนน ที่กว้างเหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่ และจีนยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจการทำงานของเรามักจะสอบถามให้ชัดเจน”
นายซันนี่ ระบุว่าปัญหาของประเทศในแถบอาเซียนที่ยังเป็นอุปสรรคในการลงทุนของบริษัท คือโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนนยังไม่ได้รับการพัฒนาเพียงพอแต่ก็ยอมรับว่า ประเทศในอาเซียนกำลังให้ความสนใจต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก โดยมีการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนทางด้านนี้ภายใต้กรอบของอาเซียน ทำให้การลงทุนคืบหน้าไปมาก
เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานว่าในประเด็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นตัวแทนรัฐบาลจีนระบุว่าทางจีนให้ความสนใจมากและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของจีนรวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนโดยมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)
ตัวแทนจีนยังแจ้งให้กับกลุ่มนักข่าวอาเซียนด้วยว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างปี 2553-2563 รวมเป็นเงิน 8.22 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับความต้องการเงินทุน 800,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 28.8 ล้านล้านบาท) โดยในวงเงินดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ 68 % และใช้เพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว 32 %
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559