ทั้งนี้นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ระบุว่า ทั่วประเทศไทยจะดูดวงจันทร์พร้อมกันในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อกำหนดวันเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน ตามฮิจเราะห์ศักราชที่ 1446 หากในวันและเวลาดังกล่าวมีผู้เห็นดวงจันทร์โปรดแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะได้ตรวจสอบ และรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวมายังจุฬาราชมนตรี เพื่อออกประกาศแจ้งให้พี่น้องมุสลิมได้ทราบโดยทั่วกันต่อไป
สำหรับเดือนรอมฎอนถือเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลามและเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดของศาสนาอิสลาม ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมหรือผู้นับถืออิสลามทั่วโลกที่มีกว่า 1,570 ล้านคนจะปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเคร่งครัดมากขึ้นกว่าทุกเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการถือศีลอด ที่เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการของอิสลาม นอกจากจะเป็นการงดเว้นจากอาหารและน้ำแล้ว ยังรวมถึงการละเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การพูดจาหยาบคาย การนินทา หรือการกระทำที่ผิดศีลธรรม
ขณะเดียวกันชาวไทยมุสลิม และชาวมุสลิมทั่วโลก ถือว่าเดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงเป็นโอกาสในการทำความดีและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า (อัลเลาะห์) อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นแนวทางแห่งชีวิตอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นช่วงเวลาของการศึกษาและไตร่ตรองคำสอนทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง
ในช่วงรอมฎอน ชาวมุสลิมจะถือศีลอดตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณ (ซูฮูร์) จนถึงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน (อิฟตาร์) โดยจะไม่รับประทานอาหาร น้ำ หรือสิ่งใด ๆ เข้าร่างกายในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นการถือศีลอดไม่เพียงเป็นการฝึกความอดทนและมีวินัย แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและยำเกรงต่อพระเจ้า และเป็นโอกาสในการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น การละหมาดพิเศษ ในยามค่ำคืน (ตะรอเวียะห์) ตลอดทั้ง 30 วัน
อย่างไรก็ตามการถือศีลอด มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีประจำเดือน หรือผู้ป่วย ซึ่งศาสนาอิสลามเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้สามารถชดเชยการถือศีลอดได้ในภายหลัง เช่น การบริจาคอาหารให้แก่ผู้ยากไร้แทน เป็นต้น