คิงเพาเวอร์ วางจิ๊กซอว์เชื่อมดิวตี้ฟรี ไทยแอร์เอเชีย และสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ต่อยอดธุรกิจขับเคลื่อนรายได้ 1.15 แสนล้านบาทปีหน้า มุ่งขยายช่องขายสินค้าผ่านสายการบินโฟกัสดึงตลาดทัวร์จีน และใช้เลสเตอร์ ซิตี้ สร้างแบรนด์สู่เวทีโลก “วิชัย” เตรียมเปิดคำเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือราว 60% เบ็ดเสร็จใช้งบร่วม 2 หมื่นล้านบาท เทก AAV“ธรรศพลฐ์” แจงธุรกิจการบินแข่งขันสูงการดึง “ศรีวัฒนประภา” จะเอื้อให้รักษาการเติบโตปีละ 20-25% จากคอนเนกชันใหม่
[caption id="attachment_62682" align="aligncenter" width="700"]
สัดส่วนโครงการสร้างการถือหุ้นของสารการบินไทยแอร์เอเชีย[/caption]
หลังจากมีกระแสข่าวมาระยะหนึ่งว่า เจ้าสัวคิงเพาเวอร์จะเข้าเทคโอเวอร์สายการบินไทยแอร์เอเซีย ในที่สุด วิชัย ศรีวัฒนประภา ก็เปิดแถลงข่าวใหญ่ หลังประกาศซื้อหุ้นสายการบินต้นทุนต่ำอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนยนที่ผ่านมา
ต่อเรื่องนี้นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของคิงเพาเวอร์กรุ๊ป นับจากนี้จะเห็นความเชื่อมโยงของการต่อยอดธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านโดยดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของคิงเพาเวอร์ จะสามารถผลักดันยอดขายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการดำเนินธุรกิจของไทยแอร์เอเชีย และสายการบิน กำลังเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นของครอบครัว หลังจากได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือAAV จำนวน 39% (โครงสร้างตามตารางประกอบ)
"ทีมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แม้จุดหลักจะเป็นเรื่องธุรกิจฟุตบอล แต่ก็สามารถเข้าเสริมในเรื่องของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งที่จะทำให้แบรนด์ของไทยแอร์เอเชีย เป็นที่รู้จักในระดับโลกเพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับที่คิงเพาเวอร์ ก็เป็นที่รับรู้แล้วไปทั่วโลกในระดับหนึ่งหลังเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก ซึ่งต่อไปก็อาจจะเห็นเครื่องบินของไทยแอร์เอเชีย ที่เพ้นท์รูปนักแตะของทีมเลสเตอร์"
ขายดิวตี้ฟรีผ่านไทยแอร์เอเชีย
"เรามองว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีและสายการบิน เมื่อรวมกันจะทำให้เกิดกลยุทธการต่อยอดทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายฐานนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งทั้งคิงเพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย มีฐานลูกค้าหลักกลุ่มนี้ในมือ ที่สามารถมีการแชร์ไอเดีย แชร์ฐานข้อมูลระหว่างกันเพื่อขยายช่องทางในการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยและการขยายช่องทางขายสินค้าของคิงเพาเวอร์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการทำโปรโมชันร่วมกัน ขายสินค้าดิวตี้ฟรีบนเครื่องบิน สั่งซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีได้ล่วงหน้า ไปรับเมื่อเดินทาง และขยายช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น"
นายอัยยวัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายรายได้ของธุรกิจคิงเพาเวอร์ กรุ๊ปในปีนี้ ธุรกิจในส่วนของคิงเพาเวอร์ตั้งเป้าไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้า 1 แสนล้านบาท ส่วนรายได้ของเลสเตอร์ ซิตี้ จะอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และปีหน้าคาดว่ารายได้ของเลสเตอร์ ซิตี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่พรีเมียร์ ลีก แบ่งให้มาเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากจากการขายเสื้อและสินค้าที่ระลึกที่เพิ่มขึ้น 40-50% ทั้งยังมีการลงทุนสร้างโรงแรมใหม่ที่ข้างสนามฟุตบอล และขยายสนามบินฟุตบอล เป็นต้น
ทุ่มร่วม 2 หมื่นล.เทกโอเวอร์AAV
ด้านนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ เผยว่า การเข้าซื้อหุ้นAAV (ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 55% ของไทยแอร์เอเชีย) การลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในขณะนี้ผมและครอบครัวศรีวัฒนประภา ได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 39% มูลค่ารวมราว 7,945 ล้านบาท จากนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัวซึ่งเป็นเงินลงทุนของครอบครัวศรีวัฒนประภา พร้อมได้มอบหมายให้นายอัยยวัฒน์ศรี และนายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา และนายสมบัตร เดชาพานิชกุล เข้ามารับตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทเพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายกับไทยแอร์เอเชีย ร่วมกันกับการบริหารของนายธรรศพลฐ์ แเละผู้บริหารชุดเดิมของสายการบิน
" ช่วงต่อไปผมก็จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของกิจการ (Mandatory Tender Offer) ส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ ประมาณ 60 % ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ AAV โดยเสนอซื้อที่ 4.20 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนเงินกู้ในส่วนนี้ให้ ซึ่งเราก็อยากให้ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ นำหุ้นออกมาขายให้เรามากที่สุด"
ไทยแอร์เอเซียโตปีละ 25 %
การลงทุนในAAVจัดว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวให้กับตนเองและครอบครัว การจะได้เงินลงทุนคืนก็ต้องรอจากเงินปันผล ที่คาดว่าต้องใช้เวลาราว 7-8 ปี เนื่องจากโอกาสที่จะนำหุ้นที่ได้ไปขายต่อแทบจะไม่มี จากข้อจำกัดเรื่องของใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจสายการบิน ที่ต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 51% แต่ที่เราตัดสินใจลงทุน เนื่องจากมองว่าจะเป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ที่มีกว่า 27 ปี และการดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของไทยแอร์เอเชีย ที่มีพื้นฐานธุรกิจที่เติบโตปีละ 20-25% ต่อยอดธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย จากการผนึกความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกันหรือการซินเนอร์ยี่ธุรกิจที่จะเกิดขึ้น
"ทั้งคิงเพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย ต่างอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และสามารถต่อยอดให้เกิดโอกาสใหม่ในธุรกิจ ที่ผ่านมาเราได้รับการร้องขอจากบริษัททัวร์ในจีนเป็นจำนวนมาก ที่อยากให้มีการเพิ่มไฟล์ตบินจากหลายมณฑทลของจีนเข้าไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะเข้ากรุงเทพฯ แต่อยากให้มีการบินเชื่อมโยงเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา หรือแม้แต่ภูเก็ต ดังนั้นการบริการของไทยแอร์เอเชีย ที่ในปีนี้เครื่องบิน 51 ลำ ในอนาคตก็ต้องมีเครื่องเพิ่มมากขึ้น ก็จะเอื้อให้ไทยแอร์เอเชีย มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และคิงเพาเวอร์ ก็มีนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้น
ประกอบกับที่ผ่านมาผมก็อยากทำธุรกิจสายการบินมานานแล้ว ตอนสายการบินนกแอร์ จัดตั้งใหม่ๆ คิงเพาเวอร์ก็เข้าไปถือหุ้น 5% แต่การถือหุ้นเพียงเท่านี้เราเข้าไปทำอะไรไม่ได้ ตอนหลังจึงขายออกไปจนมาบรรลุข้อตกกับAAVโดยเราตัดสินใจเบรกการขยายธุรกิจดิวตี้ฟรี จากเดิมที่คิดไปเปิดที่สนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาลงทุนในAAV" นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย ยังกล่าวต่อว่า การผนึกกำลังทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ผมมั่นใจว่าจะทำให้ทั้ง 2 ธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน ส่วนเป้าหมายรายได้ของคิงเพาเวอร์ ในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้ 3.5 หมื่นล้านบาท เติบโต20% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปีหน้าคาดว่ารายได้ในกลุ่มธุรกิจของคิงเพาเวอร์เอง น่าจะถึง 1 แสนล้านบาทในปีหน้า ไม่รวมรายได้ของAAV ซึ่งอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจการบินแข่งขันสูง
ฟากนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เผยว่า การตัดสินใจขายหุ้นAAV ในส่วนของตนและครอบครัวจากเดิมที่ถือในสัดส่วน 44% ให้กับนายวิชัยและครอบครัวศรีวัฒนประภา ในสัดส่วน 39% ในราคา 4.20 บาทต่อหุ้น รวมกว่า 1,892 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 7,945 ล้านบาท และผมเหลือถือหุ้นอยู่ 5% นั้น เป็นเพราะผมมองว่าสถานการณ์ธุรกิจการบินในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก และวันนี้เรามาถึงจุดสูงสุดแล้ว คือเป็นสายการบินที่มีส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศสูงสุด มีเส้นทางบินที่ครอบคลุมมากที่สุดในจุดบินสู่อาเซียน กลุ่มประเทศCLMV (กัมพูชา,ลาว,เมียนมาร์,เวียดนาม) จีนตอนใต้ จีนตอนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ใช้คอนเนคชั่นต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อใช้ในการขยายฐานลูกค้าจนหมดแล้ว
ดังนั้นเพื่อรักษาการเติบโตของไทยแอร์เอเชียให้ได้ 20% ต่อปีเป็นอย่างน้อย จึงต้องมองเรื่องของการต่อยอดเพื่อให้ได้คอนเนคชั่นใหม่ๆซึ่งด้วยศักยภาพที่คิงเพาเวอร์มีโดยเฉพาะฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในตลาดจีน จะสร้างให้เกิดคอนเน็คชั่นใหม่ในการขยายตลาดได้ดีกว่า เพื่อให้ธุรกิจของไทยแอร์เอเชีย เติบโตต่อไปอย่างก้าวกระโดด หรือ 1+1 จะไม่ใช่แค่ได้ 2 หรือ 3 แต่ต้องเป็น 4 เป็น 5 ซึ่งแม้สายการบินจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแต่การบริหารงานยังคงเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง โดยผมมีสัญญาใจว่าจะยังบริหารสายการบินนี้อยู่เป็นเวลา 5 ปีจากนี้
โดยในปีนี้ สายการบินคาดการณ์ผู้โดยสารใช้บริการที่ 17 ล้านคน ซึ่งกว่า 20% เป็นนักท่องเที่ยวจีน และภายในปีนี้จะรับมอบเครื่องบินจนครบ 51 ลำ และในปีหน้ามีแผนจะรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ เพื่อขยายเส้นทางบินในจีนเพิ่มขึ้น
"ส่วนกรณีที่ผมขายหุ้นในราคา4.20 บาทต่อหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดซึ่งอยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้นนั้น จริงๆผมก็อยากได้มากกว่านี้ แต่ติดอยู่ที่ข้อจำกัดเรื่องการถือครองหุ้นของสายการบินในประเทศไทย ตามกฎหมายการเดินอากาศ ที่ได้กำหนดว่า สัดส่วนการถือหุ้นของสายการบินต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 51% ทำให้ยากที่จะหาผู้ที่มีความประสงค์และมีกำลังซื้อพอที่จะซื้อหุ้น AAV เป็นจำนวนมากในลักษณะนี้ได้ และโดยส่วนตัวก็พอใจในราคาขายนี้"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559