กรุงเทพมหานคร และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ กรณีอาคารสำนักงงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่เขตจตุจักร
ล่าสุด (อัปเดต 14 เม.ย. เวลา 10.00 น.) ความคืบหน้าการรื้อซากอาคาร สตง. มีผู้ประสบเหตุจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 9 ราย คงเหลืออยู่ระหว่างติดตาม 53 ราย
สำหรับการปฏิบัติงานตลอดคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทำการเปิดพื้นที่โซน B4 และ C1 ซึ่งเป็นจุดที่ทีมกู้ภัยคาดว่ามีการพบแสงบางอย่าง โดยได้เปิดพื้นที่นำคานที่ขวางออก และเจาะลึกลงไปได้ 4 เมตร กว้าง 5 เมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย และทีมสุนัข K-9 เข้าไปสำรวจได้สะดวกในช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่จากการตรวจสอบไม่พบสัญญาณชีพแต่อย่างใด
ปัจจุบันดำเนินการรื้อซากอาคารคืบหน้าไปเกือบ 50% แล้ว ในช่วงสงกรานต์นี้เจ้าหน้าที่ทุกทีมยังอยู่ครบเต็มกำลังทำให้งานรื้อถอนคืบหน้าต่อเนื่อง เครื่องจักรทำงานเต็มกำลัง มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามโซนต่าง ๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำลดฝุ่นละออง เมื่อเครื่องจักรหยุดทำงาน เจ้าหน้าที่จะค้นหาผู้ประสบภัย ค้นหาชิ้นส่วนอวัยวะ ค้นหาทรัพย์สิน ด้านการนำออกและนำส่งเคสดำหรือชิ้นส่วนจะนำส่งพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ส่วนทรัพย์สินจะนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร รายงานว่า กทม. ได้จัดนักจิตวิทยาพร้อมล่ามแปลภาษา ไว้ดูแลทั้งเจ้าหน้าที่และญาติผู้สูญหายอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเยียวยาตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 มีผู้ประสบภัยแจ้งความประสงค์มาแล้ว 23,405 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย.68 เวลา 15.00 น.) เขตที่มีผู้มาแจ้งสูงสุด ได้แก่ เขตจตุจักร 3,080 ราย เขตห้วยขวาง 2,580 ราย เขตบางซื่อ 2,501 ราย เขตภาษีเจริญ 2,067 ราย และเขตธนบุรี 1,140 ราย
โดยสำนักงานเขตทุกเขต ได้เริ่มทยอยนัดหมายเจ้าของอาคาร ลงสำรวจและประเมินความเสียหายอาคารที่ได้รับความเสียหายแล้วตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.68 เป็นต้นมา โดยในช่วงสงกรานต์นี้ก็ไม่ได้หยุด แต่พบว่าเจ้าของอาคารส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน จึงขอแนะนำว่าหากท่านกลับมาแล้วสามารถติดต่อสอบถามกับสำนักงานเขตได้ทันที
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เมษายน 2568) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก รับแจ้งความที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ในเวลาราชการ โดยการประเมินจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป