โตโยต้าเลิกจ้างด้วยเหตุใด

11 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2559 | 10:54 น.
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ประกาศปิดงานงดจ้างโดยสมัครใจของลูกจ้างประเภทเหมาค่าแรงโดยมีเป้าหมายประมาณ 900 คน หรือ 40% ของลูกจ้างเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ ซึ่งได้ชี้แจงเหตุผลการเลิกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง

ทั้งนี้บริษัทเปิดรับสมัครใจลาออกในส่วนของลูกจ้างเหมาค่าแรงที่มีอายุงานต่ำกว่า 10 ปี และกำหนดจำนวนในแต่ละไลน์ของการผลิต ได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากครบกำหนดตามที่บริษัทเปิดโครงการ ทางบริษัทจะมีการใช้การประเมินดูเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องการที่จะใช้การลาออกโดยสมัครใจก่อน และหากผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม สวัสดิการเดิม และนับอายุงานต่อเนื่องด้วย ทางบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษและค่าชดเชยให้ตามอายุงาน พร้อมค่าจ้างและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นรายใหญ่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก บังเอิญบริษัทโตโยต้าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย และก็เพิ่งจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับผู้ประกอบการรายอื่นเมื่อไม่นานมานี้สื่อมวลชนจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ ความจริงแล้วการประกาศปิดงานงดจ้างแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามสภาวะเศรษฐกิจ และมักเกิดขึ้นกับบริษัททั่วไปเสมอแต่ไม่เป็นข่าว ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนครราชสีมาก็มีการประกาศปิดงานงดจ้างในแบบเดียวกันเช่นกัน กว่าปีมาแล้วที่นักลงทุนญี่ปุ่นลดการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในจีน การลดการลงทุนนี้ไม่ใช่กรณีย้ายฐานการผลิตตามหลักทั่วไป แต่เป็นการลดการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตเพื่อมองหาโอกาสลดต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และเหตุผลทางการตลาดมากกว่า หลายอุตสาหกรรมถึงกับถอยไปตั้งหลักในประเทศญี่ปุ่นเองด้วยซ้ำ

บางคนอาจมองว่าเป็นการเสื่อมสลายไปกับเทคโนโลยีดั้งเดิมเพราะมีเทคโนโลยีใหม่และทันสมัยมากกว่า โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ผมมองว่าเร็วไปหรือไม่ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ของเดิมได้ สำหรับผมมองแล้วเห็นว่ารถยนต์ไร้กระบอกสูบยังไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี เพราะสิ่งใหม่ยังไม่สามารถทดแทนของเดิมได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในเวลานี้ทั่วโลกกำลังพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และขยายแหล่งชาร์จแบตเตอรี่ทั่วไป อย่างอังกฤษก็มีมากกว่า 700 จุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อย่างพอเพียง

ขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ผลิตโฟลว์แบตเตอรี่ซึ่งเก็บพลังงานได้นานและมีราคาถูกกว่าเดิม กับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเทสลานำมาใช้ มีประจุ 85 กิโลวัตต์/ชั่วโมงทำให้รถวิ่งได้ไกลถึง 480 กิโลเมตร และเทสลายังจำหน่ายส่วนประกอบระบบส่งกำลังของยานพาหนะไฟฟ้า รวมไปถึงจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับบริษัทผลิตรถยนต์ อาทิ เดมเลอร์ โตโยต้าด้วย

ในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าต้องมาไทยแน่ๆ อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบาย 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ความจริงแล้วมีบริษัทเล็กๆ ชื่อ FOMM ในญี่ปุ่นที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กก็น่าสนใจที่จะชักนำให้มาผลิตในไทย เป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ทั้งบนบกและในน้ำได้ด้วย ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง150 กิโลเมตรในทางบก...เหตุผลที่โตโยต้าปรับตัวโดยลดจำนวนแรงงานลงก็ชัดเจนอยู่แล้วครับ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบโดยตรงนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559