สหภาพฯกทพ.ส่งสัญญาณรัฐจี้เร่งแก้ไขสัญญาลงทุนที่ไม่เป็นธรรมของทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกทม. ด้านตะวันตก กรณีจัดเก็บค่าผ่านทางเพิ่มทุก 5 ปี โดยไม่เทียบดัชนีผู้บริโภคเช่นเส้นทางอื่น หนุนใช้ม.44สั่งรื้อสัญญาตรวจสอบใหม่เพื่อรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ
นายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการที่กทพ.ประกาศค่าผ่านทางพิเศษโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกที่อยู่ระหว่างการเร่งเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ โดยขั้นต้นกำหนดไว้อัตรา 50 บาท(สำหรับรถขนาดเล็ก) เมื่อครบกำหนด 5 ปีหลังจากนั้นจะปรับขึ้นเป็น 65 บาท ปีที่ 10 ปรับเพิ่มเป็น 85 บาท และต่อเนื่องกันไปจนครบ 125 บาทต่อระยะเวลาบริหารจัดการโครงการดังกล่าวนี้เป็นระยะเวลาตลอด 30 ปี
ทั้งนี้การจัดเก็บอัตราค่าผ่านทางดังกล่าวในเส้นทางนี้ทางสหภาพกทพ.เล็งเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เส้นทาง อีกทั้งยังไม่ใช้ดัชนีผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ในการปรับแต่จะใช้ระยะเวลาในการปรับทุกระยะ 5 ปีจึงส่งผลให้ผู้ใช้เส้นทางมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 5 ปีอย่างไม่เป็นธรรม
ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนสัญญาเพราะเห็นว่าสัญญาดังกล่าวนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เส้นทาง อาจมองได้ว่าจะมีการหมกเม็ดสัญญาดังกล่าวก็เป็นไปได้ หรืออาจมองได้ว่าจะเป็นการเขียนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าที่จะเน้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง สัญญาดังกล่าวเป็นธรรมกับภาครัฐหรือไม่ รัฐสูญเสียผลประโยชน์ในส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรจะสั่งตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวจะเปิดให้บริการในเร็วๆนี้นั่นเอง
"นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาใช้มาตรา 44 สั่งรื้อสัญญาไม่เป็นธรรมต่อภาครัฐในครั้งนี้ทันที ประการสำคัญยังมีประเด็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซุกซ่อนอยู่อีกหลายข้อสมควรที่จะให้มีการเร่งตรวจสอบโดยเร็วก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อภาครัฐได้ ประการหนึ่งนั้นในพ.ร.บ.ของกทพ.ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ควรจะเป็นบุคลากรของกทพ. ไม่ใช่ของเอกชน ดังนั้นคนของกทพ.ก็ควรจะได้สิทธิ์ดังกล่าวนั้น"
นายลาภดีกล่าวอีกว่าในเร็วๆนี้ยังจะเสนอให้มีการตรวจสอบถึงผลกระทบต่อพ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน และมีโครงการใดบ้างที่เลี่ยงกระทำตามที่พ.ร.บ.กทพ.กำหนดไว้
"ภาครัฐหารายได้เข้าคลัง ให้สิทธิ์บริษัทเอกชนมาลงทุน รูปแบบการนำรายได้เข้าคลังสามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้มากน้อยแค่ไหน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรายได้จากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตกนี้ ที่รัฐบาลลงทุนไปกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่หากปริมาณรถใช้บริการไม่ถึงตามที่ระบุไว้เอกชนก็ไม่ต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ ส่งผลให้รัฐต้องเสียรายได้ไปหลายปี"
ทั้งนี้ปัจจุบันกทพ.บริหารจัดการทางด่วนโดยกทพ.เองจำนวน 4 เส้นทางหลัก รวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร และเส้นทางที่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(BEM) รับสิทธิ์บริหารจัดการ 3 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
Photo :
Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559