75 บิ๊กทุนไทย-เทศ แห่ทาบลงทุนนครพนม ญี่ปุ่น-จีนแย้มทำเอ็มโอยูตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วม พร้อมสนใจกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร หวังเร่งเส้นทางเศรษฐกิจไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน เล็งเปิดสนามบินเชื่อมตรงกับฉงจั่ว เสี่ยไทยเบฟลุยกว้านซื้อที่ดินเอง ทุนส่วนกลางยันท้องถิ่นคึก สนใจทั้งกิจการวัสดุก่อสร้าง โลจิสติกส์ ที่พักอาศัย ยันขายปลีก ชี้ที่ดินเช่าของรัฐไม่ติดปัญหาพร้อมเดินหน้าได้ปลายปีนี้ ประธานหอเร่งเปิดที่ดินเช่าภาครัฐ ก่อนนักลงทุนข้ามฝั่ง ชี้แขวงคำม่วนมีศักยภาพไม่แพ้กัน มั่นใจอนาคตดันส่งออกพุ่งเท่าตัว จากปัจจุบัน 1.2 แสนล้าน
[caption id="attachment_78994" align="aligncenter" width="700"]
ที่ดินรัฐในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม[/caption]
หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 เห็นชอบให้ที่สาธารณประโยชน์ "โคกภูกระแต" เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้เอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาว เพื่อเร่งการลงทุนในพื้นที่ไปแล้ว นั้น
หนุนม.44 ออกโฉนดเขตศก.นครพนม
ล่าสุด นายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ ใช้มาตรา 44 ถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณบ้านโคกภูกระแต เขตอำเภอเมือง ซึ่งพื้นที่ติดกับบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ จังหวัดนครพนม ส่วนที่เป็นที่ดินรัฐ ประเภทสาธารณประโยชน์ จำนวน 1,400 ไร่ จากทั้งหมด 2,938ไร่ โอนเป็นที่ดินที่ราชพัสดุมอบให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังดูแล คาดว่าปลายปีนี้ น่าจะเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการได้ รวมทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่อาจสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพครพนม แม้จะถูกจัดให้อยู่ในเฟสที่ 2 แต่ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องที่ดินของรัฐที่ไม่ติดปัญหาเหมือนพื้นที่อื่น จึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ก่อน ซึ่งมองว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ให้เข้าพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรม 1,400 ไร่ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ได้แล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งจากทั้งหมดที่ ได้ประกาศครอบคลุมอำเภอเมือง และอำเภอท่าอุเทน รวม 4.6 แสนไร่ คาดว่าส่งออกจะพุ่งเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีมูลค่า 1.2 แสนล้าน
75 ทุนไทย-เทศ สนเช่าที่
นอกจากนี้เขตพัฒนาเศรษฐกิจนครพนม ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมาก ถึงเวลานี้มี 75 รายแล้ว ที่ให้ความสนใจติดต่อ ยื่นขอข้อมูล และแสดงความจำนง ที่สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม หรือ OSS การลงทุนในพื้นที่ ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในบรรดาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ซึ่งกิจการที่นักลงทุนสนใจลงทุน อาทิ โรงงานเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งเป็น กิจการ 3 ประเภทในพื้นที่ ที่คณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนจังหวัด (กรอ.จังหวัด) กำหนดยุทธ์ศาสตร์การลงทุน ที่สำคัญยังให้ความสำคัญนักลงทุนในท้องถิ่นที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอีอีกด้วย
"เจริญ" เจ้าพ่อน้ำเมามาเอง
จากการตรวจสอบรายชื่อนักลงทุนที่มาติดต่อกับศูนย์ OSS จังหวัดนครพนม พบว่า ซีกนักลงทุนไทย มีชื่อของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ติดต่อมาขอข้อมูลและประเภทกิจการที่สนใจลงทุนด้วยตนเอง ซึ่งนายชาญยุทธ์ ชี้ว่า น่าจะเข้ามาที่ดินราคาถูกเอง เพื่อลงทุนกิจการประเภทเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงสินค้าเกษตร ขณะที่กลุ่มซีพี มองหาที่ดินเพื่อทำกิจการสินค้าเกษตร การเกษตรแปรรูป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากโรงพยาบาลพญาไท ห้างโรบินสัน เซ็นทรัล บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร วัสดุก่อสร้างโกลบอลเฮ้าส์ โรงแรม ร้านอาหาร ตลาดไมซ์ เอนเตอร์เท็นเม้นต์ เป็นต้น
ซีพีเอฟ–เอสซีจี ปักธงนครพนม
นอกจากนี้ยังมี นายชำนาญ ถนัดธนูศิลป์ ได้ยื่นขอลงทุนพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า บริษัท เอสซีจีฯ โดยร่วมกับบริษัท คำม่วนซิมังจำกัด ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 ซึ่งจะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าโดยจะเน้นวัสดุก่อสร้าง เพื่อส่งตรงไปยังคำม่วน สปป.ลาว และทะลุออกไปยังเวียดนาม มุ่งหน้าส่งออกไปยังจีนตอนใต้ได้ ซึ่งจะเน้นขยายฐานวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มค้าวัสดุก่อสร้าง ทั้งปูนซิเมนต์ คอนกรีต รวมบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนในนครพนม ซึ่งเน้นสินค้าเกษตร อีกทั้ง นายปธาน สมบูรณสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. Ticon นอกจากนี้ยังมี กิจการเลี้ยงหมู กลุ่มส่งออกผลไม้ กลุ่มเลี้ยงผึ้ง สุวรรณฟาร์ม
จีนขอแจม-ลุยเส้นทางส่งออก
สำหรับทุนต่างชาติพบว่ามีนายหลี่ เจิ๊นถาง รองนายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน สนใจลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน แจ้งว่าจะเสนอลงนามตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ในห้วงเดียวกับงานเอ็กซ์โปจีน-อาเซียน นอกจากนี้ยังตกลงร่วมมือทางการค้า โดยให้ผู้ประกอบการจังหวัดนครพนม ไปตั้งศูนย์การค้าในอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่สำคัญยังขอร่วมพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจหนานหนิง-ฉงจั่ว-นครพนม-กรุงเทพมหานคร โดนมีการประสานงานร่วมกับ เวียดนาม และสปป.ลาว
ประธานหอการค้าฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีนายหวัง เซียน ฉาง รองผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ่าวเปยปู้ มณฑลกวางสี จากจีน ขอทราบความก้าวหน้าของเขตพัฒนาเศรษฐกิจนครพนม และต้องการติดต่อเพื่อเข้ามาลงทุน เพื่อหนุนนครพนมให้เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ เส้นทางโลจิสติกส์ และผลักดันให้มีสายการบิน ตรงระหว่างเมืองฉงจั่วกับจังหวัดนครพนม รวมถึงนายจ้าว จัน รองประธานบริษัท China National Machinery Import & Export Corporation ( CMC ) แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม อีกทั้ง นักลงทุนจีนที่เช่าที่ดิน เพื่อปลูกสวนยางพารา และทำโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยาง
ทุนออสเตเรีย-ไต้หวัน-ญี่ปุ่น จ่อลงทุน
นอกจากนี้ยังมีทุนจากประเทศออสเตเรีย สนใจกิจการประเภทโลจิสติกส์ และฟาร์มโคเนื้อ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจาก สะพานข้ามโขง3 อีกทั้ง Mr.Wen-chin Chao จากประเทศไต้หวัน ยืนยันจะลงทุน มหาวิทยาลัย National Chung Cheng และ Mr.jenn-jaw SOONG ชาติเดียวกัน สนใจลงทุนมหาวิทยาลัย National Cheng Kung
ส่วน นายอาริระ ฟุกุชิมะ จากประเทศญี่ปุ่น สนใจตั้งบริษัท เกี่ยวกับจีเอ็มเอส ตั้งอยู่ตำบลในเมืองอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม กลุ่มส่งออกเสื้อผ้าจากจังหวัดอุดรธานี ของไทยต้องการตั้งโรงงานส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปใต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ
ที่พุ่งไร่ละ 36 ล้าน/ราคาถูกยังมี
ประธานหอการค้ากล่าวเพิ่มเติมว่า เอกชนส่วนใหญ่สนใจเช่าที่ดินของรัฐมากกว่าซื้อเอง เนื่องจาก ขณะนี้ราคาที่ดินค่อนข้างสูง นับตั้งแต่เปิดสะพาน ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 เมื่อปี 2554 และประกาศให้นครพนม เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้สองปีมานี้ ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นไร่ละกว่า 20 ล้านบาท โดยเฉพาะริมแม่น้ำโขง ซึ่งล่าสุดมีเจ้าของโรงแรมเดอะรีเวอร์ จากกรุงเทพ ฯ ซื้อที่ดินเพื่อลงทุนโรงแรมรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศริมแม่น้ำโขง ไร่ละ 36 ล้านบาท ทำเลติดกับแม่น้ำโขงและสะพานข้ามโขง3 เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่เปิดสะพานปี2553 ราคาอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อไร่ -ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อไร่ และทำเลก่อนเข้าตัวอำเภอเมืองบริเวณ จุดบายพาสบ้านน้อยหนองเค้ม อำเภอเมือง ไร่ละ 5-10 ล้านบาท อยู่ห่างจากเขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี หากใครต้องการลงทุนซื้อที่ดิน หอการค้าเสนอแนะว่า ยังมีที่ดินราคาถูก ซึ่งเป็นที่ของเอกชน อยู่บริเวณรอบนอก แต่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งห่างจาก เขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ดินรัฐและสะพานข้ามโขง3 ระยะทาง 20กิโลเมตร ได้แก่ ตำบล หนองญาติ ตำบลนาราชควายอำเภอเมือง ห่างตัวเมืองเกือบ 20 กิโลเมตร ราคาอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อไร่ จนถึง ไม่เกิน 1.5ล้านบาทต่อไร่
เอสดีเจลุยบรรจุภัณฑ์พลาสติก
"ฐานเศรษฐกิจ"สอบถามนายไพฑูร ย์ ปานสูง ประธานที่ปรึกษาบริษัท เอสดีเจ อินเตอร์จำกัด หนึ่งในนักธุรกิจที่ลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติก จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับคำตอบว่า ต้องการ ให้รัฐบาลเดินหน้า เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมโดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เช่าของรัฐที่จะให้เอกชนเช่า ซึ่งหากช้าเกรงว่านักลงทุนจากไทยและต่างชาติจะขยับไปเพื่อนบ้านหมด ซึ่งขณะนี้บริษัทเตรียมซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ ราคา ไร่ละ 3-5 แสนบาท ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 3 เพื่อตั้งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อขยายฐานการผลิตไปที่นครพนม และอนาคตจะส่งออกไปยังลาว เวียดนาม และจีนต่อไป ใจจริงอยากเช่าที่ดินรัฐ เพราะ ไม่ต้องลงทุนสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ถนน แต่หากรัฐบาลล่าช้าก็ต้องซื้อที่ดินเอง เพราะมั่นใจว่าศักยภาพจังหวัดนครพนม มีเส้นทางไปสู่ เวียนนามและจีน ไม่ไกลมากนัก ถือว่าเป็นทำเลที่ดีสำหรับการค้าการลงทุน ในอนาคต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559