ภาษีเครื่องดื่มรสหวาน

01 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
ผมคิดอยู่นานตั้งแต่มีข่าวออกมาว่าจะเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานที่จำหน่ายในประเทศไทย คิดว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ จะสนับสนุนให้รัฐรีบ ๆ จัดเก็บภาษีไปเลย หรืออย่าเก็บเลยดีกว่า ด้านหนึ่งก็ว่านโยบายนี่ดี เพราะคนเราเชื่อว่าต้นเหตุของโรคเบาหวานเกิดจากกินน้ำตาลมากเกินไป ด้านหนึ่งก็ว่านี่เป็นข้อสรุปจริงๆ หรือไม่ เพราะสมัยนี้วิทยาการก้าวหน้าข้อสรุปทางการแพทย์บางอย่างที่เชื่อกันมานมนานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นต้นว่าโรคอัลไซเมอร์วิทยาการทางการแพทย์ยุคปัจจุบัน(ล่าสุด)บอกว่าสาเหตุมาจากขาดอินซูลิน

เอาล่ะเชื่อไว้ก่อนว่าน้ำตาลเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวาน และความหวานจากน้ำตาลกับสารความหวานอย่างอื่นอาทิ ฟรักโทสล่ะเป็นอย่างไร ก็เห็นขายกันเกลื่อน เมื่อค้นๆ หาอ่านดูก็พบว่า ฟรักโทสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดียว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำตาลทราย ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะน้ำตาลทรายจะประกอบไปด้วยน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสนั่นเอง ส่วนสารความหวานที่บรรจุอยู่ในซองเล็กๆ วางไว้ข้างกระปุกน้ำตาลทราย เรียกว่าจะดื่มกาแฟผสมกับน้ำตาลทรายหรือสารความหวานอย่างอื่นก็ให้เลือกเอา ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกซองเล็กๆ ที่ว่าหรือไม่ เพราะก็มีข้อห้ามอีกบางประการเหมือนกัน บอกว่าไม่เหมาะสำหรับคนเป็นโรคนั้นโรคนี้ถูกแนะนำว่าไม่ควรรับประทานเสียอีก

ทุกวันนี้เวลาจะทานข้าวสักมื้อก็ต้องบอก "ขอรับข้าวนิดเดียว" หรือตักทัพพีเล็กๆ ก็พอ ก็เพราะว่าหากทานข้าวเข้าไปมากก็จะทำให้อ้วนได้ เพราะแป้งเป็นตัวส่งเสริมความอ้วน ตกลงแล้วจะให้ทำอะไรล่ะครับ ถ้าคิดว่าข้าวก็ไม่ดีต่อสุขภาพหากรับประทานมากเกินไป ก็ไม่เคยเห็นแพทย์ออกคำเตือนอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียที และถ้าเห็นว่าข้าวก็ "ตะเพา" เดียวกันกับน้ำตาล ก็ขึ้นภาษีข้าวสารไปเลยอีกรายการหนึ่ง

กัญชาก็เหมือนกัน ล่ำๆ จะแก้ไขกฎหมายโดยยกเลิกกัญชาจากเป็นพืชเสพติดเสีย ที่ยกเลิกก็มิใช่อะไรหรอกครับ ก็เพราะต่างประเทศบางประเทศได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ควรจะถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ให้เปิดขายจำหน่ายได้โดยทั่วไป ขณะที่กัญชาเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งแน่ๆ เคยสูบเคยเสพก็อยากสูบอยากเสพต่อไป สูบแล้วร่างกายผอมกะหร่อง ตาปรือ (หวาน) สติปัญญาเชื่องช้า แล้วเราก็เชื่อกันอย่านี้มานาน แล้วจะยกเลิกได้หรือ

ผมว่าบางทีนักวิชาการไทยมักจะเต้นตามเพลงคนชาติอื่นมากกว่า เห็นฮังการีประกาศเก็บภาษีตามปริมาณความหวานในเครื่องดื่มแล้วตั้งแต่ปี 2554 ไทยก็น่าจะเก็บภาษีตามก้นเขา และถ้าออกกฎหมายได้เร็วๆ ยิ่งดีเพราะจะถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้เห็นทีว่า เวลาส่งออกก็ต้องใช้มาตรฐานสาธารณสุขของไทยด้วยก็แล้วกัน เพราะเราก็ไม่ควรส่งเสริมสินค้าส่งไปขายไปทำลายสุขภาพผู้บริโภคประเทศอื่นเหมือนกัน

ผมว่าการเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานที่จำหน่ายในประเทศไทยฉบับที่จะออกมานี้ น่าจะรอดูมติทางสากลเสียก่อนไม่ดีหรือ ไม่ใช่จะออกกฎหมายเพราะดูแล้วทำให้ประเทศไทย "ดูดี" กว่าชาติอื่นที่ยังไม่ออกกฎหมายฉบับนี้ บางทีทำไปบางชาติจะฉวยโอกาสขย่มตลาดสินค้าประเภทเครื่องดื่มส่งออกของไทยก็ได้ เอาแค่พอมีข่าวนี้ออกมาบรรดาชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก็ขนหัวลุกแล้ว เพราะหากกฎหมายออกมาก็ย่อมมีผลต่อปริมาณการใช้น้ำตาลภายในประเทศ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลสูงกว่าที่ทางการกำหนดยอดขายอาจจะลดลงก็ได้ เพราะราคาจะต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องเสียภาษี

ความจริงแล้วถ้าออกกฎหมายมาก็คุมกันได้เฉพาะที่โรงงานที่ได้มาตรฐานเท่านั้น โรงงานอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมครัวเรือนก็น่าจะควบคุมได้ลำบาก ก็สังเกตดูสิครับเครื่องดื่มไม่ว่ารสหวานหรือรสเปรี้ยวก็ใช้น้ำตาลผสมด้วยกันทั้งนั้น และที่สำคัญรัฐจะควบคุมการขายที่ปลายทางได้อย่างไร อาหารรสหวานไม่ใช่มีเฉพาะเครื่องดื่ม ของหวานอย่างลอดช่อง หรือทองหยิบฝอยทอง ไอศกรีมและอื่นๆ อีกสารพัดที่คนไทยบริโภคประจำ แล้วอย่างนี้ กฎหมายออกมาแล้วจะคุมการบริโภคน้ำตาลให้ลดลงได้จริงหรือ ....ก็อย่างนี้ล่ะครับ ที่ผมบอกตรงๆ ว่าเลือกไม่ถูกเหมือนกันว่าจะหนุนหรือจะค้านกฎหมายฉบับนี้ดีหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559