จีนเข้มสั่งรมควันตู้สินค้าป้องกันไวรัสซิกาเข้าประเทศ ผู้ส่งออกไทยบ่นอุบถูกบังคับรอบ 2 ทำต้นทุนเพิ่ม 4,000 บาทต่อตู้ ขณะสภาผู้ส่งออกระบุผิดหวังต่อระบบสาธารณสุขไทย เฝ้าระวังไม่ดีทำกลับมาระบาดซ้ำอีก หวั่นคุมไม่ได้ลามกระทบท่องเที่ยว ด้านสินค้าข้าวยันเป็นสารไม่อันตราย ผู้บริโภคเบาใจได้
[caption id="attachment_96777" align="aligncenter" width="335"]
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป[/caption]
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากกรณีที่สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรค แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปรับปรุงรายชื่อประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาตามรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO) ได้มีรายชื่อประเทศไทยอยู่ด้วยอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้จีนออกมาตรการให้สินค้าจากทั่วโลกรวมถึงจากประเทศไทยต้องผ่านการพ่นสารเคมีกำจัดยุง(ซึ่งเป็นพาหะนำโรค)ในตู้คอนเทนเนอร์ และมีใบรับรองการกำจัดยุงจากบริษัทผู้ให้บริการไปสำแดง ซึ่งมีค่าบริการตู้ละประมาณ 4,000 บาท ส่วนกรณีที่ไม่มีใบรับรองทางการจีนจะฉีดพ่นตู้คอนเทนเนอร์ที่ปลายทาง และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้นำเข้า (ที่จะเรียกเก็บจากผู้ส่งออกอีกที) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น
เรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการในภาพรวมของไทย และในภาพรวมของสมาชิกสมาคมที่ส่งออกไปจีนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลไม้สด และในกลุ่มอาหารกระป๋อง เช่นสับปะรดกระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องปรุงรสมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในเรื่องนี้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อปลดรายชื่อออกจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาโดยเร็ว เพราะหากยืดเยื้อจะเป็นต้นทุนเพิ่มที่ผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระไปเรื่อย ๆ
“เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 59 ไทยอยู่ในรายชื่อ 40 ประเทศที่พบมีไวรัสซิการะบาด ทำให้เราต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีนในเรื่องดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ต่อมาทางองค์การอนามัยโลกได้ถอดรายชื่อไทยออกจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด และทางการจีนยดเลิกการตรวจเอกสารรมควันตกสินค้าที่ส่งออกจากไทย แต่ล่าสุดเมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาไทยก็ถูกขึ้นบัญชีประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซก้าอีกครั้ง และต้องกลับไปปฏิบัติตามระเบียบของจีนจนถึงปัจจุบัน”
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวของจีนทำให้สินค้าจากทั่วโลกและจากไทยมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เรื่องการป้องกันไวรัสซิกาของไทยนี้รู้สึดผิดหวังกับระบบสาธารณสุขของไทยในการเฝ้าระวัง ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขที่ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้กลับมาระบาดซ้ำได้อีก
“ที่ห่วงในเรื่องซิก้านอกจากกระทบต้นทุนผู้ส่งออกของไทยไปจนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกรงจะกระทบกับภารการท่องเที่ยว เพราะเวลานี้มีผู้ติดเชื้อนับสิบราย เรื่องนี้ด้านสาธารณะสุขของไทยต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะขยายวงและมีผลกระทบมากกว่าที่คาดคิด
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ระเบียบนำเข้าดังกล่าวของจีนในสินค้าข้าวได้รับผลกระทบเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการฉีดพ่นยาในตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้าข้าวอาจถูกมองว่าอาจมีสารเคมีตกค้างเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ แต่ในข้อเท็จจริงไม่ใช่สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เมื่อมีการรมควันแล้วจะมีการปิดตู้เลย เมื่อตู้สินค้าไปถึงปลายทางใน 3-5 วัน สารต่างๆ ก็ระเหยไปหมดแล้ว
Photocover :
pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559