สมศักดิ์ รับนายกฯ สั่งตั้งบอร์ดถกปัญหารวม 3 กองทุน

25 ก.พ. 2568 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2568 | 11:00 น.

"สมศักดิ์" รับนายกฯ สั่งตั้งบอร์ดถกปัญหารวม 3 กองทุน ชี้บัตรทองได้รับการชื่นชม พร้อมรับประกันสังคมให้ สปสช.ดูแล

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจนเกิดข้อเสนอว่า ควรนำสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคม มอบให้กับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริหารแทนนั้น 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลสุขภาพ (Health Data Hub) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า บางครั้งสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยจะไปบังคับคงไม่ได้แต่หากพร้อมมาก็พร้อมรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องงบประมาณบัตรทองรับเงินจากภาครัฐแต่ประกันสังคมมีกองทุนประกันสังคมเงินก็จะมาจากผู้ประกันตนส่วนหนึ่งด้วย การจะมารวมกันหรือไม่นั้นถ้าทำได้ก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ไม่กล้าพูดว่าต้องมา

นอกจากนี้นายสมศักดิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยจะเป็นการรวมสามกองทุนสุขภาพหรือไม่ว่า จริง ๆ กฎหมายเข้าใจว่า มีมากว่า 20 ปีแล้วที่ต้องการให้รวมกองทุน เพียงแต่ละหน่วยงาน แต่ละรัฐบาลไม่สามารถทำได้แต่นายกรัฐมนตรี มีวิสัยทัศน์มองว่า จะทำเรื่องนี้อย่างไร มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่วมกัน

"ผมเห็นมีผู้เสนอรายงานเข้ามาในครม.ถึงการรวมกองทุนว่า เพราะอะไรถึงไม่สามารถทำได้ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง คณะกรรมการฯ ศึกษาเรื่องนี้เพราะมองว่า น่าจะทำได้ เป็นการบ้านที่ต้องมาศึกษา จริง ๆ บัตรทองมีการขยายการให้บริการมากขึ้น

ล่าสุด สปสช. ยังบริหารจัดการสิทธิรักษาพยาบาลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งพนักงาน รฟท.มั่นใจในสปสช. และคาดว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆตามมาอีก

สำหรับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 33/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ลงนามโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากตามที่รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของประเทศไทยซึ่งเป็นสวัสดิการที่สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

สร้างหลักประกันสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชากรทุกคนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยงบประมาณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอำนาจหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการ คือ เสนอแนะ กำหนดนโยบาย แนวทางการบริหาร และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพค่าใช้จ่าย หรือวิธีการอื่นใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศและลดภาระความเสี่ยงทางการคลังให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิการรักษาพยาบาล