แผ่นดินไหว แพนิก-วิตกกังวล-นอนไม่หลับ แก้ได้ด้วย 4 ปัจจัย

29 มี.ค. 2568 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2568 | 11:49 น.

เปิด 4 ปัจจัยแก้อาการแพนิก วิตกกังวล นอนไม่หลับ หลังเกิดแผ่นดินไหว แพทย์ชี้เป็นภาวะภัยอันตรายภายใจจิตที่เกิดขึ้นได้ปกติ

ข้อมูลจากหนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชของไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ผ่านมา หลายคนเกิดภาวะภัยอันตรายภายในจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้คือเรื่องปกติของคนปกติ

หลักการสำคัญในขณะนี้คือ ตั้งสติให้ได้ โดยเฉพาะบุคคลที่เผชิญกับสถานการณ์โดยตรง พบเหตุเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เช่น อยู่ในตึกที่สั่นไหว เห็นเหตุการณ์ตึกถล่มตรงหน้า การวิ่งหนีออกจากอาคารสั่นไหว อาจทำให้ตกใจ วิงเวียนศรีษะ หวาดผวา แน่นอนว่ามีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง และผู้สื่อข่าวไม่ควรไปสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยเหล่านั้น

“กรณีนี้หากผู้ประสบภัยหลายคนถูกซักถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะรื้อฟื้นความทรงจำกระตุ้นให้ภาวะหวาดกลัวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ก่อน”

แพนิก หลังแผ่นดินไหว

สำหรับอาการ “แพนิก” (Panic Disorder) คือการเกิดความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกอย่างมาก และในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจของแต่ละคน ว่าหลังเผชิญกับเหตุการณ์แล้วจะตอบสนองอย่างไร เพราะแต่ละคนมีความเข้มแข็งไม่เท่ากัน ที่สำคัญก็ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดเหตุการณ์ของแต่ละคนด้วย

วิตกกังวล นอนไม่หลับ

ส่วนอาการ “วิตกกังวล-นอนไม่หลับ” จะเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้น บางคนถึงขั้นฝันร้ายถึงเหตุการณ์และมักจะเป็นอยู่ในระยะหนึ่ง แต่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เพียงแค่อย่าเกิดเหตุการณ์ซ้ำ โดยแผ่นดินไหวมักจะทิ้งช่วงนานและเกิดซ้ำได้น้อยในประเทศไทย ยกเว้น การเกิดอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock)

ดังนั้น ระยะเวลาจะช่วยเยียวยาให้คนเราค่อยๆ ปรับสภาพจิตใจกลับสู่ภาวะสมดุลจนอาการต่างๆ ลดลงและหายไปได้

4 ปัจจัย ช่วยภาวะจิตใจหลังเกิดแผ่นดินไหว

สำหรับผู้ที่มีอาการแพนิก-วิตกกังวล-นอนไม่หลับ มีข้อแนะนำโดยภาพกว้าง 4 ปัจจัยที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้

  1. พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ที่ประสบพบเจอเหตุการณ์เหมือนกัน หากพูดคุยและปลอบโยนกันและกันได้จะเป็นผลดีที่สุด ทั้งมองมุมบวกช่วยเหลือกันจะเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจมากขึ้น
  2. พยายามเข้าใจสถานการณ์เป็นจริง คือเข้าใจความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์มาได้ก็จะทำให้หวาดผวาน้อยลง
  3. ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อย่างเช่น เร่งแก้ไขการจราจร กลับไปเดินรถไฟฟ้าให้เป็นปกติ ซึ่งทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐบาลที่เป็นที่พึ่งพาของประชาชน ต้องบูรณะสภาพแวดล้อมให้เร็วที่สุด
  4. แต่ละสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ ต้องเร่งตรวจสอบความปลอดภัย เช่น ตึกสูง ที่พัก คอนโด ออฟฟิศ เพื่อให้คำตอบด้านความปลอยภัย เพราะจะทำให้ภาวะจิตใจของบุคคลากรเข้มแข็งขึ้นได้