วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

07 เม.ย. 2568 | 18:00 น.

"สมศักดิ์" เปิดงานประชุมเบาหวานโลก ชี้สถานการณ์ NCDs น่าห่วง คาดผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มจาก 500 ล้านคนในปี 2564 เป็น 800 ล้านคนในปี 2588 กระทบศก.1.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมวิชาการเบาหวานโลก หรือ IDF World Diabetes Congress 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 7-10 เม.ย.2568  BangkokInternational Trade and Exhibition Center (BITEC) กรุงเทพมหานคร โดยมีศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ชวาร์ส ประธานสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ นายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพ และสมาคมโรคเบาหวานจาก 160 ประเทศ เข้าร่วมงาน 

นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งระบุว่า NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก ประชากรโลกเสียชีวิตประมาณ 41 ล้าน รายต่อปี ประชากรไทยเสียชีวิตประมาณ 4 แสนรายต่อปี และ NCD ยังทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกประมาณ 1.5 ล้านล้าน US Dollar ต่อปี และผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี (คิดเป็น 9.7% ของ GDP ประเทศไทย)

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

สำหรับโรคเบาหวานในปัจจุบันมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรโลกที่ป่วยเป็น NCD มีประมาณ 7% (ในปี 2533) และเพิ่มขึ้นเป็น 14% (ในปี 2565) โดยคาดว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 500 ล้านคน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 800 ล้านคนในปี 2588 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 6.5 ล้านคนและมีผู้ป่วยเบาหวานใหม่ ปีละประมาณ 3.5 แสนราย ปัจจัยสำคัญ คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายและการเพิ่มขึ้นของภาวะอ้วน ไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีและจะต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก กรณีไตวายเรื้อรัง เพิ่ม 4 แสนถึง 5 แสนต่อรายต่อปี, กรณีมีการตัดขาเพิ่ม 1.5 แสน ถึง 3 แสนบาทต่อรายต่อปี และกรณีเกิดตาบอดเพิ่ม 5 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อรายต่อปี

ตามที่ WHO ได้กำหนดเป้าหมายในการลดอัตราตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCD ให้ได้ 25% ภายในปี 2020 แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมายจึงได้ขยายเวลาออกไปอีก 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเห็นว่า เรื่องนี้สำคัญมากและคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

จึงได้เสนอให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรค NCD อย่างมากเช่นกัน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน Kick of NCDs เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่

"สำหรับผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มนโยบายให้คนไทย "นับคาร์บ" สำหรับคนที่เริ่มป่วยเพื่อทำให้คนไทย "กินเป็นไม่ป่วย สวยหล่ออายุยืน" ถ้าทุกคนทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง คนไทยจะสุขภาพดี คนที่จะป่วยก็ไม่ป่วยและประหยัดงบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล

นโยบายคนไทยห่างไกล NCD ปี 2568 จึงตั้งเป้าหมาย ดังนี้

  • ให้ มี "คลินิก NCD รักษาหาย" ครบทุกโรงพยาบาล
  • มี "ศูนย์ป้องกันโรค NCD ทุกอำเภอ" เพื่อลดกลุ่มเสี่ยง
  • มี "ศูนย์คนไทยห่างไกล NCD ทุกตำบล" เพื่อแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่สงสัยว่า จะเป็น NCD หรือป่วยเป็น NCD แล้ว
  • มีโครงการ NCD ได้ดีด้วยกลไก อสม. ในทุกหมู่บ้าน โดยตั้งเป้าหมายว่า ประชากรไทยจะสามารถนับคาร์บ ได้เป็น จำนวน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีงบประมาณปี 2568

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม "โรงเรียนเบาหวานวิทยา" ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนแล้วคัดเลือกผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อให้ความรู้เรื่องการรับประทานอาหาร สอนให้ผู้ป่วยนับคาร์บ นัดมาพบกันทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ เพื่อเช็กว่า นับคาร์บได้ถูกต้องหรือไม่ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้จริงหรือไม่ มีการเจาะน้ำตาลหลังอาหาร (เมื่อควบคุมอาหารได้ดี ค่าน้ำตาลในเลือด ลดลง ก็จะมีการปรับลดยาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพราะหากคุมอาหารแล้ว ไม่มีการปรับลดยาทันที คนไข้จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ แล้วต้องกลับไปกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเหมือนเดิมอีก)

และยังสอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกายการลดความเครียด ควบคู่กันไปผลการดำเนินงานมีคนเข้าร่วม โรงเรียนเบาหวานวิทยา รวม 5,810 คน 15.1% หายจากโรคเบาหวาน 9.1% สามารถหยุดยาเบาหวานได้และยังคงควบคุมน้ำตาลได้ดี และ 21.2% สามารถปรับลดยาเบาหวานลงได้ผลลัพธ์ คือช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศลงได้ประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

ยังสามารถนำมาขยายผลกับผู้ป่วยเบาหวานอีก 6.5 ล้านคนทั่วประเทศ เรายังสนับสนุนการควบคุม NCD ด้วยกลไก อสม. ลงทุนเรื่องอุปกรณ์ให้แก่ อสม. ได้แก่ ชุดอุปกรณ์การตรวจติดตาม NCD แบบพกพา และระบบ telemedicine การลงทุนประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยเบาหวานทั้งประเทศได้ประมาณ 26,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายดีขึ้น ประมาณ 2.9 ล้านคนต่อปี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังสนับสนุนให้ทำโครงการ อสม.ชวนคนไทยนับคาร์บให้ได้ 50 ล้านคน โดยเริ่มนับคาร์บจากตัวเองและช่วยสอนให้ อสม.นับคาร์บ อีกด้วย คนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์มาก่อนก็สามารถทำได้ไม่ยากใครก็ทำได้

ขณะนี้ อสม.กว่า 99 % หรือกว่า 1 ล้านคนนับคาร์บเป็นแล้ว อสม. มีน้ำหนักลดลงเฉลี่ยคนละ 2.89 กิโลกรัมในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้น ขยายผลให้ อสม. 1 คน สอนประชาชน 50 คน คนไทยจึง นับคาร์บเป็นแล้วกว่า 25 ล้านคน จากเป้าหมาย 50 ล้านคน สิ่งที่ตนสอน อสม. ให้นำไปสอนประชาชนต่อ โดยใช้แบบฟอร์ม นับคาร์บนี้เพื่อให้เขาเข้าใจหลักการง่าย ๆ เป็นสูตร Harris-Benedict equation ซึ่งค้นพบมานานกว่า 105 ปี

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน

ขั้นตอนแรก คิดอัตราการใช้พลังงานพื้นฐาน

ขั้นตอนที่สอง คิดค่าพลังงานต่อวันที่ใช้ ตามระดับความหนักของกิจกรรมทางกายที่ทำประจำ

ขั้นตอนที่สาม คำนวณหาปริมาณคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงานเท่ากับ 20% ของพลังงานที่ต้องใช้ต่อวัน (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 Kcal)14

ขั้นสุดท้าย แปลงจากปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรกินต่อวัน เป็นจำนวนคาร์บ (คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม = ข้าวสวย 1 ทัพพี = 1 คาร์บ) เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าแต่ละคนควรกินข้าวสวยที่เป็นอาหารหลักของคนไทยได้วันละกี่คาร์บ ตนเคยคำนวณของตัวเอง ได้วันละ 5.5 คาร์บ จึงขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดโรค NCDs และขอให้ทุกคน "กินเป็นไม่ป่วย สวยหล่ออายุยืน" และเด็กอายุยืนไปพร้อมกัน 

วิกฤตโรค NCDs ทั่วโลก คาดปี 2588 ผู้ป่วยทะลุกว่า 800 ล้านคน